นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า Thailand Blockchain Community Initiative ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนำเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างบล็อกเชนมายกระดับภาคธุรกิจไทย ประกอบด้วยความร่วมมือของธนาคาร 14 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารยูโอบี ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) และธนาคารออมสิน
และธุรกิจขนาดใหญ่ 7 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล บจก. พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง บมจ. ไออาร์พีซี และ เครือปูนซิเมนต์ไทย โดยมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ให้คำปรึกษาด้านการจัดการภาพรวมของโครงการ รวมถึงด้านกฎหมาย จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ แอคเซนเจอร์เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และไอบีเอ็ม นับเป็นรูปแบบความร่วมมือที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
โครงการบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนเป็นโครงการแรกภายใต้ Thailand Blockchain Community Initiative ที่ใช้โครงข่ายเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อรับรองเอกสารหนังสือค้ำประกันที่มีประสิทธิภาพสูง เชื่อถือได้ ปลอดภัย และมีมาตรฐานรูปแบบข้อมูลที่เป็นเอกภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ผ่านระบบ Cloud Technology จึงช่วยให้ผู้ใช้งานมีความคล่องตัวสูง เพราะสามารถกำหนดการตั้งค่าใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น รองรับการทำธุรกรรมและตรวจสอบสถานะได้ตลอด 24 ชั่วโมง
"โครงการบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การใช้เอกสารที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ 100% ตลอดกระบวนการตั้งแต่เริ่มจนจบโดยไม่ใช้กระดาษ ซึ่งมีความปลอดภัยสูง ตรวจสอบได้ง่าย ปลอมแปลงได้ยาก สะดวกรวดเร็วกว่ารูปแบบเดิม ซึ่งสามารถเข้าตรวจสอบได้ ทุกที่ ทุกเวลา และจะบันทึกประวัติต่อเป็นห่วงโซ่แบบอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง เอื้อให้เกิดการเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายธนาคารและภาคธุรกิจต่างๆ เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต"นายปรีดี กล่าว
ในปี 60 ตัวเลขประมาณการของประเทศไทยที่ออกหนังสือค้ำประกันผ่านระบบธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมกว่า 1.35 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวนมากกว่า 500,000 ฉบับ ขยายตัวจากปี 59 ที่ 8% ในจำนวนนี้เป็นการออกเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ 15-20% ดังนั้น โดยภาพรวมระบบเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการออกหนังสือค้ำประกันในรูปแบบเอกสารที่เป็นกระดาษอยู่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายและภาระในการจัดการด้านเอกสาร ทั้งสำหรับธนาคารผู้ออก และภาคธุรกิจผู้ใช้งานหนังสือค้ำประกัน
นายปรีดี กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบ Blockchain นี้ถือว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่มีการบริการนี้ โดยมั่นใจว่าเมื่อได้มีการผ่านการทดสอบและนำออกมาใช้ในราวไตรมาส 3 ของปีนี้แล้วจะทำให้เกิดความคล่องตัวแก่ภาคธุรกิจ เพราะมีขั้นตอนการดำเนินงานที่สะดวกและรวดเร็วกว่าการออกเป็นเอกสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีความปลอดภัยต่อการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งเชื่อว่าภาคธุรกิจที่เห็นประโยชน์ในส่วนนี้จะหันมาใช้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบ Blockchain กันมากขึ้นในอนาคต
"การให้บริการออกหนังสือค้ำประกันในรูปแบบใหม่นี้ ช่วยให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว สร้างความน่าเชื่อถือ และมีการตรวจสอบได้ง่าย ลดการปลอมแปลงเอกสาร เชื่อว่าในอนาคตหากผู้ประกอบการเห็นประโยชน์ตรงนี้ก็จะหันมาใช้บริการในรูปแบบนี้แทนระบบเดิม" นายปรีดี กล่าว
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธปท. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นความร่วมมือในการสร้างชุมชน Blockchain นี้ขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ทั้งในภาคธนาคารที่เข้าร่วมโครงการและภาคธุรกิจ โดยการใช้เทคโนโลยีศักยภาพสูงอย่าง Blockchain ที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินในหลายมิติ และปัจจุบันมีการนำมาใช้ในหลากหลายด้าน
อีกทั้งโครงการนี้ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยกลไก Regulatory Sandbox เพื่อทดสอบนวัตกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ จากความร่วมมือในการสร้างชุมชน Blockchain นี้ภาคธนาคารจะสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี Blockchain ร่วมกัน โดยไม่ต้องลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีเองทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการให้บริการ
สำหรับภาคธุรกิจจะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการเชื่อมต่อบริการเดียวกันที่มีกับต่างธนาคาร สามารถตรวจสอบข้อมูลในระบบเครือข่ายที่ใช้งานร่วมกัน ลดความเสี่ยงการปลอมแปลงข้อมูล เพิ่มความรวดเร็วและความปลอดภัยในการใช้งาน นับเป็นปรากฎการณ์อันดียิ่งในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น
ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับการออกพันธบัตร เพื่อให้สามารถลดระยะเวลาการออกพันธบัตรของธนาคารพาณิชย์ จากเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 15 วัน ลดลงเหลือเพียง 2 วัน
นอกจากนี้ ธปท. ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เพื่อให้กระบวนการชำระเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์มีความรวดเร็วขึ้น สามารถดำเนินการได้ทุกวันและตลอด 24 ชม.
"เราเชื่อว่าทั้ง 2 โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษานี้ เมื่อทำได้เป็นผลสำเร็จแล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการเงินไทยมากขึ้น" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ