นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ณ นครเจนีวา ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมาชิก WTO จำนวน 164 ประเทศ ในที่ประชุมคณะมนตรีใหญ่ WTO เมื่อวันที่ 7 มี.ค.61 ให้ดำรงตำแหน่งประธานองค์กรระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Body: DSB) นับเป็นคนไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ดังกล่าวตั้งแต่มีการก่อตั้ง WTO เมื่อปี 2538 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อถือและความไว้วางใจของนานาชาติที่มีต่อประเทศไทยให้รับบทผู้นำของประเทศสมาชิกในเรื่องการระงับข้อพิพาททางการค้าที่เป็นภารกิจสำคัญหลักของ WTO ในขณะนี้
การเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะตามแนวทางปฏิบัติของ WTO ประธาน องค์กรระงับข้อพิพาทจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO ในปี 2562 ซึ่งเป็นองค์กรระดับสูงสุดของ WTO ในการกำกับดูแลภาพรวมการดำเนินงานของประเทศสมาชิก และเป็นปีที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (MC12) ที่จะมีบทบาทเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนให้การเจรจามีความคืบหน้า และให้กระบวนการทำงานสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้สมาชิกมั่นใจว่า WTO ยังเป็นองค์กรที่กำกับดูแล และสร้างความเป็นธรรมทางการค้าระหว่างประเทศ
ความสำเร็จของ WTO ในการเป็นองค์กรแถวหน้าด้านการค้าระหว่างประเทศนั้นเกิดจากการมีกฎกติกาทางการค้าที่ใช้บังคับกับสมาชิกทุกประเทศอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ขัดกับกฎเกณฑ์ WTO สามารถยื่นฟ้องผ่านกลไกการระงับข้อพิพาท ซึ่งจะแต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีความเป็นอิสระเข้ามาทำหน้าที่ตัดสินคดี รวมถึงมีขั้นตอน กรอบเวลา และบทลงโทษที่ชัดเจน จึงทำให้ที่ผ่านมากลไกการระงับข้อพิพาท WTO ประสบความสำเร็จอย่างมากในการกำกับดูแลกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศ และถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในเวทีการค้ากรอบอื่น ๆ ทั่วโลก
แม้ตัวองค์กรระงับข้อพิพาทซึ่งประกอบด้วยสมาชิก WTO ทั้งหมดจะไม่ได้ทำหน้าที่วินิจฉัยคดีโดยตรง แต่ก็มีหน้าที่สำคัญในการแต่งตั้งผู้พิพากษาคนกลาง รวมถึงมีอำนาจรับรองผลคำตัดสิน ตรวจสอบดูแลการปฏิบัติตามคำตัดสิน ตลอดจนอนุมัติการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าหากประเทศที่แพ้คดีไม่เลิกใช้มาตรการที่ผิดกฎกติกาการค้า WTO ทั้งนี้ การตัดสินใจใด ๆ ขององค์กรระงับข้อพิพาทจะต้องเป็นฉันทามติ ดังนั้น ประธานที่ต้องยึดหลักความเป็นกลางจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้สมาชิกได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายสามารถเห็นชอบร่วมกัน และทำให้การดำเนินงานของกระบวนการระงับข้อพิพาทเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
ความท้าทายและเป็นประเด็นร้อนในขณะนี้ คือ การแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ที่ว่างลง 3 ตำแหน่ง จากทั้งหมด 7 ตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันกระบวนการคัดเลือกต้องหยุดชะงักและไม่สามารถเริ่มต้นขึ้นได้ เนื่องจากถูกคัดค้านโดยสหรัฐฯ ที่มีท่าทีต่อต้าน WTO และระบบการค้าพหุภาคี ทำให้การพิจารณากรณีพิพาททางการค้าต้องล่าช้าออกไป นับว่าเป็นเรื่องสำคัญต้องดำเนินการเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้