(เพิ่มเติม) "สมคิด" มั่นใจผลจากโครงการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ จะพลิกโฉมศก.ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุน-คมนาคม-ท่องเที่ยวในภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 19, 2018 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Thailand Taking off to New Heights ว่า ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำงานหนักและร่วมมือกับพันธมิตรช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และสามารถสร้างพัฒนาการในหลากหลายมิติจนเห็นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ทางเศรษฐกิจของไทย โดยในช่วง 2 ปีดังกล่าวจะเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก 2.8% สู่ 4% ในไตรมาส 4 ของปี 2560 และเห็นการเติบโตของมูลค่าการส่งออกจาก 214 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 236 พันล้านเหรียญในปี 2560 เพิ่มขึ้นกว่า 10%

ขณะที่มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็วจากจำนวนคำขอ 983 โครงการ มูลค่า 197,580 ล้านบาทในปี 2558 เพิ่มเป็น 1,456 โครงการ มูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาทในปี 2560 เพิ่มขึ้น 224% หรือประมาณ 3.5 เท่าตัว และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 700,000 ล้านบาทในปีนี้

ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากจำนวน 537 โครงการ มูลค่าลงทุน 96,077 ล้านบาท เพิ่มเป็น 818 โครงการ มูลค่าลงทุน 282,696 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 194 % หรือประมาณ 3 เท่าตัว ซึ่งการลงทุนเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มจาก 83,339 ล้านบาทในปี 2558 เพิ่มเป็น 392,142 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว โดยเฉพาะในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลมุ่งพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกใหญ่ของประเทศในอนาคต เพิ่มจาก 52,700 ล้านบาท เป็น 296,890 ล้านบาท หรือเพิ่มสูงเกือบ 6 เท่าตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีโอกาสต้อนรับคณะธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก ทั้งนักลงทุนจากสหรัฐ อียู จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น ซึ่งทางรัฐมนตรีเมติจากญี่ปุ่นเป็นผู้นำคณะนักธุรกิจกว่า 500 คนมาดูลู่ทางการลงทุนในไทย นอกจากนี้ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่ก้าวกระโดดจาก 29.9 ล้านคน เป็น 35.4 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ขณะที่เที่ยวบินที่บินเข้าและออกจากประเทศไทยเพิ่มจาก 363,880 เที่ยวบิน ในปี 2558 เพิ่มเป็น 416,552 เที่ยวบิน ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเกือบ 15% ซึ่งสะท้อนว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและมีโอกาสในการก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและศูนย์กลางการบินของอนุภูมิภาค

ขณะเดียวกันก็เห็นการพลิกฟื้นของดุลการค้าและดุลชำระเงินของประเทศที่เข้าสู่ยุคเกินดุลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 155 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2558 เป็น 214 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 อีกทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ set index พุ่งทะลุเกิน 1,800 จุดเป็นครั้งแรก นับเป็นประวัติการณ์สูงสุดนับแต่เริ่มก่อตั้ง ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีกำไรสุทธิรวมเพิ่มจาก 663,684 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 990,764 ล้านบาท ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นถึง 50%

นอกจากนี้ ไทยยังได้รับการจัดอันดับความสามารถแข่งขันทั้งจาก IMD และ WEF ในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับการจัดอันดับ ease of doing business จาก World Bank ในอันดับที่ 26 ในปี 2560 ดีขึ้นถึง 20 อันดับในเวลาเพียง 1 ปี และได้รับการจัดอันดับจาก US news ว่าเป็นประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ และอันดับ 8 ของประเทศที่น่าลงทุนที่สุด

นายสมคิด กล่าวว่า แม้พัฒนาการในด้านต่างๆ ของประเทศจะดีขึ้นอย่างน่าพอใจ แต่มั่นใจว่ายังไม่ใช่จุดสูงสุดและจะยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ สิ่งที่ดีกว่ากำลังรอเราอยู่เบื้องหน้า และถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของโฉมหน้าใหม่ของเศรษฐกิจไทย ที่กำลังจะเกิดขึ้นในทศวรรษใหม่ที่จะมาถึง การเติบโตและพัฒนาการทางเศรษฐกิจของจะยังสามารถไต่ระดับขึ้นไปได้อีก และจะสามารถกระจายความมั่งคั่งใหม่นี้ไปทุกส่วนของสังคมได้ดีขึ้นกว่าในอดีต

"ถ้าไม่มีปรากฎการณ์นอกเหนือการคาดหมายมาทำให้สะดุด เรามั่นใจยิ่งว่าด้วยผลจากโครงการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่และที่จะขับเคลื่อนต่อไปอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในอีก 3-4 ปีข้างหน้า โฉมหน้าเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนสู่ยุคใหม่ในระดับการพัฒนาที่สูงขึ้นและพร้อมเป็นศูนย์กลางการลงทุน การคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนุภาค CLMVT แห่งนี้" นายสมคิด กล่าว

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การลงทุนแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ประกอบด้วย 1.โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ เมกะโปรเจค ที่จะช่วยยกระดับสมรรถนะของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพของประเทศ ตัวอย่างเช่น การลงทุนที่จะเปลี่ยนโฉมการคมนาคมขนส่งของประเทศ อาทิในด้านรถไฟ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 464 กิโลเมตร ซึ่งเหลือโครงการที่กำลังจะเปิดประมูลอีก 9 ช่วงตอนวงเงินรวมเกือบ 4 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าในต่างจังหวัด รวม 4 จังหวัด มูลค่ากว่าแสนหกหมื่นล้านบาทที่จะเริ่มต้นในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้ โครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งมีโครงการที่กำลังจะประมูลอีก 10 สายทาง เชื่อมโยงการขนส่งทั้งภาคเหนือ กลาง อีสานและใต้ วงเงินรวมประมาณ 280,000 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาคที่เริ่มต้นก่อสร้างแล้ว คือ รถไฟความร่วมมือไทยจีน กรุงเทพ-หนองคาย โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หัวหิน ที่ TOR ใกล้เสร็จสมบูรณ์ในไม่ช้า

นายสมคิด กล่าวว่า ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หัวหิน ที่ใกล้จะจัดทำร่างทีโออาร์แล้วเสร็จในช่วงสิ้นเดือนนี้ให้ขยายไปถึงสุราษฎร์ธานี เพื่อใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวและสร้างการเชื่อมโยงกับโครงการไทยแลนด์ริเวร่าหรือถนนเรียบชายฝั่งทะเลที่ได้จัดเตรียมงบประมาณไว้แล้วกว่าแสนล้านบาท

พร้อมทั้งให้มีการศึกษารถไฟความเร็วสูงเส้นทางแม่สอด จ.ตาก-จ.มุกดาหาร ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญที่จะเชื่อมต่อไปถึงเวียดนามและอินเดีย ซึ่งถือเป็นแผนงานของกระทรวงคมนาคมที่จะดำเนินการในอนาคตพร้อมเชิญชวนให้ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน แต่หากไม่มีใครสนใจมาลงทุน รัฐบาลก็พร้อมลงทุนเอง

ทางด้านท่าอากาศยาน ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะ 3 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 และท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ตลอดจนการพัฒนาสนามบินขนาดเล็กลงมาในจังหวัดในภูมิภาคที่จะช่วยเสริมสร้างสมรรถนะการขนส่งทางอากาศเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศ ทั้งหมดนี้มีการศึกษาและได้กำชับให้เริ่มลงทุนโดยเร็ว

โครงการลงทุนด้านพลังงาน ทั้งการสำรวจแหล่งพลังงาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแก๊ซธรรมชาติ โครงการลงทุนในโครงข่ายในระบบท่อส่งแก๊ซธรรมชาติ โครงการส่งเสริมพลังงานทดแทน

ทั้งหมดนี้ในช่วงระยะเวลา 2560-2564 มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านๆบาท ขณะที่ได้จัดเตรียมโครงการลงทุนด้านไฟฟ้าในช่วงปี 2561-65 ในวงเงินรวมกว่า 7 แสนบ้านนี้ ทั้งหมดนี้เพื่อให้พอเพียงรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

2.กลุ่มโครงการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่รัฐบาลไทยตั้งใจพัฒนาต่อยอดจากโครงการ eastern seaboard เดิมเพื่อรองรับเป็นฐานรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่เน้นการเพิ่มมูลค่า นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ และเพื่อให้เป็นฐานของการสร้าง transhipment port ขนาดใหญ่ในการขนส่งสินค้าเข้าและออกรองรับไม่เพียงแต่ประเทศไทยแต่รองรับ CLMVT โดยรวม ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อให้อีอีซี พร้อมไปด้วยสมรรถนะในการรองรับนักลงทุน รัฐบาลได้จัดให้มีโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยองเชื่อม 3 สนามบิน วงเงินลงทุนประมาณ 236,700 ล้าน คาดว่าจะประกาศ TOR ได้ในเดือนมีนาคมหรืออย่างช้าต้นเดือนเมษายนเพื่อให้พร้อมเปิดดำเนินการปี 2566

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท คาดว่าจะประกาศ TOR เชิญชวนประกวดราคาไดัในเดือนกรกฎาคม 2561 โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1 คาดว่าจะประกาศ TOR ได้ในเดือนมีนาคม 2561

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 150,000 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศ TOR เดือนสิงหาคม 2561 โครงการท่าเรือมาบตะพุด phase 3 มูลค่าโครงการประมาณ 110,000 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศ TOR เดือนมิถุนายน 2561

เขตนวัตกรรมระเบียงเศรศฐกิจภาคตะวันออก EECI ที่จะสนับสนุน EEC ในการขับเคลื่อนนโยบาย thailand 4.0 จะเป็น global sandbox ที่นักวิจัยและนวัตกรรมระดับโลกมาทำงานร่วมกันในรูปแบบ open innovation เพื่อทดลองทดสอบนวัตกรรมใหม่สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคต่อไป

โครงการพัฒนา EEC ให้เป็น smart logistic hubโดยเชื่อมโยงและประสานปลดล็อคกระบวนการศุลกากรให้เข้าสู่ประเทศที่สามอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การสร้างเขตปลอดภาษีอากรเชื่อมกับการขนส่งเอกชนด้านอีคอมเมิร์ช

และกลุ่มการลงทุนที่ 3 ได้แก่ กลุ่มโครงการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิตอล หรือ 4.0 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับ 4 ภาระกิจหลัก ได้แก่ 1) การลงทุนใน digital infrastructure เพื่อเป็นฐานรองรับการพัฒนาต่อยอดในอนาคต โดยเน้นการลงทุนในอินเตอร์เนตบรอดแบรนด์ให้ลงถึงทุกหมู่บ้านกว่า 75,000 หมู่บ้านในปีนี้ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนในพื้นที่ชายขอบและพื้นที่ห่างไกลให้สามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เนตความเร็วสูง เชื่อมต่อไปสู่การใช้ประโยชน์ให้บริการด้านการศึกษา สาธารณสุข การพัฒนา smart farmer และsmart sme รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาสมาร์ทซิติ้ ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มต้นโครงการนำร่องที่ภูเก็ต เชียงใหม่ และการสร้างเมืองใหม่ใน EEC

การลงทุนใน digital infrastructure เหล่านี้จะทำควบคู่กับการพัฒนาด้าน digital literacy ให้คนไทยเรียนรู้ เข้าใจ มีทักษะและความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี อีกทั้งการเร่งสร้างบุคลากรด้านดิจิตอลในทุกสถาบันการศึกษาและการร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศในการสร้างบุคลากรทางด้านนี้

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการลงทุนใน submarine cable เชื่อมโยง ไทย ฮ่องกง จีน เพื่อให้ไทยสามารถเป็น international gateway ในระดับภูมิภาค การลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล ประกอบไปด้วยการลงทุนในดิจิตอล พาร์คในพื้นที่ eec เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันศึกษามาใช้ประโยชน์ในการร่วมพัฒนานวตกรรมด้านต่างๆอาทิ AI IOT การพัฒนา IOT institute & consortium เพื่อผลักดันให้มีการใช้และพัฒนาด้าน IOT เป็นต้น

2) การสร้างและพัฒนาdigital trading โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน e-Commerce ทั้งการลงทุนของภาครัฐเอง การส่งเสริมแก่ภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างระบบการค้า ecomerce ให้เข้าถึงชุมชนในชนบท เพื่อสร้างศักยภาพแก่ชนบทในการเข้าถึงตลาดโลก ทั้งในการจำหน่ายสินค้าจากผลิตภัณฑ์ชุมชน และการเข้าถึงตลาดนักท่องเที่ยวทั่วโลก อันจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนในชนบท การพัฒนาการค้าออนไลน์ เพื่อนำไปสู่การลงทุนใน โลจิสติกส์และบริการต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการทางการเงิน ซึ่งในขณะนี้ได้ให้ความสำคัญกับการชักชวนให้นักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน และร่วมมือในโครงการพัฒนาต่างๆทางด้านนี้

3) การขับเคลื่อน digital transformation ในภาคการผลิตและภาคบริการ โดยเฉพาะ SME ให้เร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีดิจิตัลโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน iot AI sensor technology และ big data ในภาครัฐเองได้จัดสรรงบประมาณจัดตั้งกองทุนและวงเงินสินเชื่อเพื่อขับเคลื่อนในด้านนี้กว่า 2 แสนล้านบาท ในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมๆ ไปกับการร่วมมือกับต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ภาคการผลิตและภาคบริการของไทยเกิดความตื่นตัวเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิตอลเทคโนโลยีได้ในที่สุด

4) การก้าวสู่ e-Government ภาครัฐได้พัฒนาระบบการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ บริการพร้อมเพย์และในปลายเดือนนี้ การรับและชำระเงินของรัฐบาลจะเข้าสู่ระบบไร้เงินสดแต่ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แทน (National e-Payment) ตามด้วยโครงการสวัสดิการคนจน ด้วยการช่วยเหลือคนจนผ่านการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะขยายผลต่อไปสู่ทุกโครงการของรัฐกับประชาชน ไม่ว่าการคมนาคมขนส่ง การให้สวัสดิการในด้านต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้ผลักดันระบบ e-Tax system เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บและอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน ที่สำคัญที่สุดคือ การให้ทุกหน่วยงานของรัฐทั้งกระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจ เร่งขับเคลื่อนโครงการ big data และopened data เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์และต่อยอดจากข้อมูลและข่าวสารในอนาคต พร้อมกันนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อเข้ามาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และระเบียบกฎเณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมดิจิตอลให้ทันสมัยไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในอนาคต

"ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วง 2 ปี เกิดจากการทำงานในรูปแบบประชารัฐ ไม่มีช่วงใดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยมีโครงการปฏิรูป หรือการลงทุนยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ถ้าไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค การเติบโตทางเศรษฐกิจ 4% ไม่ใช่ที่สุดของเรา เราสามารถไปได้อีก สิ่งดีๆรอเราอยู่ เราทำได้แน่นอน" นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าว่า การจัดงานวันนี้ หวังให้ทุกคนได้ข้อมูลที่มากขึ้น และโอกาสวันข้างหน้าจะมีโอกาสดูแลในฐานะหุ้นส่วนและพันธมิตรทางธุรกิจต่อไป

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ "การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน" ว่า รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งในครึ่งปีหลังจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเดินหน้าปฏิรูปในแต่ละด้านให้สามารถขับเคลื่อนการทำงานที่ดำเนินการได้เร็วและเห็นผลเป็นรูปธรรม

พร้อมทั้งกล่าวว่า อาเซียนถือเป็นพื้นที่ที่น่าลงทุนที่สุดในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งไทยได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางในกลุ่มประเทศCLMVT ซึ่งจะใช้เวทีการประชุมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม (ACMECS) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพกลางปีนี้ ในการจัดทำแผนรอบใหม่ เชื่อมโยงและวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งทางถนน รถไฟและสนามบิน ท่าเรือ ระบบอินเตอร์เนต พลังงาน และนิคมอุตสาหกรรม และด่านชายแดนต่างๆ เชื่อมโยงไปยังประเทศจีนและอินเดียด้วย และพร้อมส่งเสริมให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศด้วย

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ได้เชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งไทยพร้อมอำนวยความสะดวกและปรับปรุงกฏหมายเพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจ โดยเตรียมลดกฏหมายของภาครัฐจาก 6,500 ไลเซนต์เหลือเพียง 1,000 ไลเซนต์เท่านั้น รวมถึงอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนตามเงื่อนไขของบีโอไอ

พร้อมกันนี้ เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการวางรากฐานในการทำธุรกรรมแห่งอนาคตในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อออกกฏหมายใหม่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมแห่งอนาคตและทำให้การดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น

ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวถึงแผนการลงทุนในปี 2561 มี 44 โครงการ กรอบวงเงินรวม 2.02 ล้านล้านบาท โดยตั้งเป้าสิ้นปีงบประมาณ 61 จะมี 23 โครงการที่ประกวดราคาแล้วเสร็จ เริ่มก่อสร้างและพร้อมเปิดบริการได้ มูลค่ารวมกว่า 1.1 ล้านล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า)ได้ส่งรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้กับรัฐบาลไทยแล้ว ซึ่งเตรียมจะนำเสนอ ครม.ในเร็วๆนี้ต่อไป ส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีการออก TOR ช่วงต้นเดือนเมษายน และหาผู้ลงทุนในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่จะมีการเปิดประมูลในส่วนที่เหลือช่วงกลางปีนี้ รวมระยะทาง 3,455 กิโลเมตร และช่วงปลายปีนี้จะมีการ พ.ร.บ.กรมรางออกมา เพื่อบริหารจัดการรถไฟทั้งระบบ และสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป คือ การจะมีการศึกษาการเปลี่ยนรถไฟรางคู่เป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด เพื่อให้ทัดเทียมกับนานาประเทศได้

ส่วนการขนส่งทางน้ำในอนาคต จะเพิ่มขีดความสามารถการคนขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ที่ท่าเรือแหลมฉบังจาก 7 ล้านตู้เป็น 15 ล้านตู้ ภายในปี 2561 เทียบเท่ากับท่าเรือมาเลเซียและสิงค์โปร์ โดยเตรียมจัดทำTOR กลางปีนี้และจัดหาผู้ลงทุนให้แล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้

ขณะที่โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรณภูมิ มีแผนพัฒนาเพื่อรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบันรองรับได้ 45 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 และพัฒนาการขนส่งทางอากาศ ในการปรับปรุงสนามบินและแผนการสร้างสนามบินใหม่ เพื่อรองรับเที่ยวบินจาก 1 ล้านเที่ยวต่อวันเป็น 3 ล้านเที่ยวต่อวันในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ