นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือน ก.พ.61 ว่า สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.9 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เป็นต้นมาจนถึง ณ สิ้นเดือน ก.พ.61 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตทั้งสิ้น 450 ราย ใน 66 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 45 ราย กรุงเทพมหานคร 35 ราย และร้อยเอ็ด 29 ราย ทั้งนี้มีจำนวนที่คืนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 52 ราย ใน 31 จังหวัด
ดังนั้นจึงมีนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิ 398 ราย ใน 65 จังหวัด และมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 294 ราย ใน 60 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ได้เปิดดำเนินการแล้ว 181 ราย ใน 51 จังหวัด และมีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 144 ราย ใน 48 จังหวัด โดยผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายในเขตจังหวัดให้แก่ผู้มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายในจังหวัดนั้น ๆ วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate)
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ม.ค.61 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 10,249 บัญชี รวมเป็นเงิน 273.51 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 26,686.09 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 5,614 บัญชี เป็นเงิน 177.71 ล้านบาท คิดเป็น 64.97% ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัติ และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 4,635 บัญชี เป็นเงิน 95.80 ล้านบาท คิดเป็น 35.03% ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัติ ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างรวมมีทั้งสิ้น 3,081 บัญชี คิดเป็นเงิน 94.12 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน มีจำนวน 220 บัญชี คิดเป็นเงิน 7.67 ล้านบาท หรือ 8.15% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 67 บัญชี คิดเป็นเงิน 2.38 ล้านบาท หรือ 2.53% ของสินเชื่อคงค้างรวม
สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินตั้งแต่เดือน มี.ค.60 ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้เป็นทางเลือกของประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบแทนหนี้นอกระบบ รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ก.พ.61 มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 228,180 ราย เป็นเงิน 10,127.15 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไป 214,007 ราย เป็นเงิน 9,509.55 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติแก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ จำนวน 14,173 ราย เป็นเงิน 617.60 ล้านบาท
โฆษก สศค.กล่าวว่า การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการสะสมนับตั้งแต่เดือน ต.ค.59 เป็นต้นมาจนถึงสิ้นเดือน ก.พ.61 มีการจับกุมผู้กระทำผิดรวมทั้งสิ้น 2,139 คน