นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เพื่อให้ทันสมัย และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมถึงเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการทำธุรกิจของนักลงทุนต่างด้าว และการปกป้องคุ้มครองธุรกิจของคนไทย คาดว่า จะปรับปรุงแก้ไขเสร็จภายในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเสนอให้ รมว.พาณิชย์ พิจารณา หากเห็นชอบจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ก่อนเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
สำหรับประเด็นที่น่าจะปรับปรุงแก้ไขได้ เช่น คำนิยามของ "คนต่างด้าว" ที่จะต้องแก้ไขให้ชัดเจน ไม่ทำให้คนไทยเสียเปรียบ และแก้ไขปัญหากรณีที่คนต่างด้าวใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) เพื่อหลบเลี่ยงการทำธุรกิจที่ต้องขออนุญาตโดยไม่ขออนุญาต ขณะเดียวกันยังต้องเอื้อต่อการลงทุนของคนต่างด้าวตามนโยบายของรัฐบาล และความสัมพันธ์อันดีกับประเทศต่างๆ ด้วย
"การจะแก้ไขนิยามของคนต่างด้าวให้พิจารณารวมไปถึงการมีอำนาจครอบงำกิจการของคนต่างด้าว หรือการมีสิทธิในการออกเสียงข้างมากหรือไม่ ทั้งๆ ที่ถือหุ้นน้อยกว่าคนไทยนั้น กรมฯ อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยต้องศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศอื่นด้วย เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อาเซียน รวมถึงกฎหมายแม่บทของสหประชาชาติ (Uncitral) ด้วย ซึ่งกฎหมายของหลายประเทศ จะอนุญาตให้ต่างด้าวทำธุรกิจที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ" นางกุลณี กล่าว
นอกจากนี้ยังจะปรับปรุงแก้ไขบทลงโทษที่อาจปรับลดบทลงโทษลง เพราะกฎหมายปัจจุบันบางความผิดเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย แต่กฎหมายกลับกำหนดบทลงโทษรุนแรงถึงขึ้นพักกิจการหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการในไทย พร้อมกันนั้นจะพิจารณาถอดธุรกิจบริการบางสาขาออกจากบัญชีแนบท้าย 3 (ธุรกิจที่ไทยยังไม่พร้อมแข่งขันกับคนต่างด้าว) ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นการทบทวนเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว