นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ (ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ - พิษณุโลก) ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่นว่า คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบในเดือนเม.ย.นี้ โดยขณะนี้ทางญี่ปุ่นได้รายงานการศึกษาระยะที่ 1 ช่วง กรุงเทพฯ – พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 276,225 ล้านบาทเสร็จแล้ว หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการออกแบบรายละเอียด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการในปี 61-62 เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นขั้นตอนของการก่อสร้าง ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 63
ทั้งนี้ เรื่องการลงทุนนั้น จากการศึกษาญี่ปุ่นได้เสนอให้รัฐเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด หรือรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และให้เอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้เดินรถ จะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากโครงการใช้เงินลงทุนสูง มีระยะเวลาในการคืนทุนนานและต้องการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้น ทางกระทรวงคมนาคมได้หารือกับญี่ปุ่นว่าต้องการให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโครงการ เช่น ตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ขึ้นมาลงทุนร่วมกัน ตั้งแต่เริ่มต้นการก่อสร้าง ส่วนการเดินรถ อาจจะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนอันอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งรูปแบบการลงทุนยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ และต้องใช้เวลาในการหารือรายละเอียดอีก
สำหรับในส่วนของระยะที่ 2 ช่วง พิษณุโลก-เชียงใหม่นั้น จะเริ่มดำเนินการศึกษาหลังจากนี้เช่นกัน เพื่อให้โครงการมีการต่อเชื่อมตลอดเส้นทาง ตั้งแต่กรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่