นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกดือน ก.พ.ล่าสุด เติบโตในระดับกว่า 10% ถือว่าน่าพอใจ แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่ามากขึ้น และยังมีการเกินดุลการค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีขึ้น
โดยมองว่าการส่งออกที่ขยายตัวได้กว่า 10% นั้นไม่ใช่จุดจบ แต่ยังมีสิ่งดีที่ยังรออยู่ข้างหน้า การพัฒนาสู่จุดที่เพิ่มขึ้นยังรออยู่ และประเทศไทยได้ผ่านจุดถดถอยไปแล้ว และกำลังเข้าอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิ่งที่ไทยได้ดำเนินการในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะทำในอีก 2-3 ปีที่จะถึง ไปจนถึงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จะเป็นตัวผลิกโฉม สร้างมิติใหม่ให้เมืองไทย
ทั้งนี้ มองว่าหากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนในเทคโนโลยีสามารถเดินหน้าได้ตามแผน จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยในการพลิกประเทศแน่นอน
"ประเทศไทยผ่านจุดถดถอยไปแล้ว ดังนั้นอย่าไปมองว่าเราต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ มันฟื้นจากการกระตุ้นมานานแล้ว ตอนนี้เรากำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูป จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นอีกต่อไป อยากให้เปลี่ยนมุมมองกับประเทศไทย ทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศ อย่าไปมองอะไรเป็นชิ้น ๆ เป็นโครงการ เช่น ลงทุนรถไฟ รถไฟความเร็วสูง มันไม่ใช่ แต่เจตนาคือไทยมีโอกาสทางเศรษฐกิจมา 2 ปีแล้ว เราเปลี่ยนโอกาสให้เป็นการเติบโตแล้ว และอยากให้คอยดูตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงนี้ที่เชื่อว่าจะขยายตัวได้เป็นอย่างดี" นายสมคิด กล่าว
วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขส่งออกของไทยเดือน ก.พ.61 มูลค่า 20,365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.3% จากตลาดคาดว่าจะขยายตัวราว 9.25% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,557 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 16% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 807 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ส่วนสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามเรื่องนี้อยู่ และที่ผ่านมากระทรวงคลังได้มอบนโยบายให้ ธปท.ไปแล้ว จึงเป็นหน้าที่ที่ ธปท. จะต้องไปดูแลตามสิ่งที่กระทรวงการคลังบอก
"เราไปสั่งการหรือก้าวก่าย ธปท. ไม่ได้ ธปท.รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ ถ้าเงินไหลออกไปพรวดเดียวก็คงไม่ดี และเขาเองก็คงไม่อยากให้ออกไปหมด" นายสมคิด กล่าว
สำหรับสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก ที่ประมาณ 40% ต่อ GDP โดยการกู้เงินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องดูด้วยว่านำไปทำอะไร ที่ผ่านมาไทยกู้เงินเพื่อมาลงทุนด้านดิจิทัล ลงทุนในสิ่งที่จะเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ซึ่งสินค้าต่าง ๆ ก็จะโตแบบก้าวกระโดด ตัวเลข GDP ก็จะขยายตัว และตัวเลขหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็จะลดลง ดังนั้นเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเงินที่จะเอาไปขับเคลื่อนการลงทุน
"ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเอาเงินไปลงทุนในเรื่องของอนาคต ควบคู่ไปกับการพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้เศรษฐกิจฐานราก ทั้ง 2 ประเด็นเดินหน้าควบคู่ ขนานกันไป ถือเป็นการเอาเงินไปลงทุนในด้านสังคม อีกด้านก็เพื่ออนาคต ซึ่งต่างชาติชื่นชมและเห็นด้วยในสิ่งที่เราทำทั้งหมด ว่าสิ่งที่ไทยกำลังดำเนินการอยู่นี้ถือเป็นหัวใจของการพัฒนา ทุกอย่างจะต้องสมดุล" รองนายกรัฐมนตรีระบุ