นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในการประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการหารือร่วมกับผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ 17 แห่ง ที่มีวงเงินลงทุนสูง เพื่อรับนโยบายในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2561 ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากปี 2560 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงถึง 3.9% ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนันจากการลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวสูงถึง 9%
ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2561 ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นายสมคิด ได้มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการดังนี้
1. เร่งรัดการก่อหนี้ผูกพันในปี 2561 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
2. ปรับปรุงแผนและประมาณการเบิกจ่ายงบลงทุนให้สะท้อนกับความสามารถในการเบิกจ่ายได้ตามจริง โดยให้เน้นการเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
3. ให้รัฐวิสาหกิจที่ประหยัดงบประมาณได้จากการจัดซื้อจัดจ้าง พิจารณาการนำเงินไปลงทุนในโครงการอื่นที่มีความสำคัญและเร่งด่วนเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล
4. เร่งปรับปรุงกรอบการลงทุนให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2561
5. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้ไม่น้อยกว่า 95% และรายงานผลการเบิกจ่ายงบลงทุนเป็นรายเดือนและรายงานการก่อหนี้ผูกพันให้ สคร. ภายในทุกวันที่ 5 ของเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560
6. ให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนำนโยบายทั้ง 5 ข้อ ไปกำกับให้ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจดำเนินการอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย และพิจารณากำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของการเบิกจ่ายงบลงทุนในการประเมินผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ
7. ให้รัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูล (Big Data) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ (Data Analytic) และสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลดังกล่าวร่วมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเตรียมความพร้อมบุคลากรในทุกระดับให้มีความรู้และสมรรถนะ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่รวดเร็ว
นายเอกนิติ กล่าวว่า สำหรับกรอบการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2561 ที่ สคร.กำกับดูแลสูงถึง 515,114 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นถึง 49.7% จากปี 2560 โดยเครื่องชี้การลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วง 2 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.พ.61) ขยายตัวสูงถึง 47% ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจในปี 2561 ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจสะสมในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60 – ก.พ.61) เท่ากับ 91,686 ล้านบาท หรือคิดเป็น 141% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม โดยเป็นผลมาจากการเร่งลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่ เช่น บมจ.ปตท. (PTT), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบมจ. การบินไทย (THAI)
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปได้อย่างดี หลายหน่วยงานเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายหรือเกินกว่าเป้าหมาย ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยทำให้ผลประกอบการทางเศรษฐกิจดีขึ้น ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) นั้น ก็ได้มอบนโยบายให้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น
โดยในส่วนของ รฟท.นั้น มีแผนงานและโครงการลงทุนจำนวนมาก หลายโครงการเริ่มเดินหน้าแล้ว ก็ให้มีการเร่งเบิกจ่ายตามแผนการลงทุน ขณะที่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย ปัจจุบันมีสภาพคล่องอยู่กว่าแสนล้านบาท ก็ให้เร่งนำสภาพคล่องดังกล่าวออกมาลงทุนตามแผนการลงทุนต่าง ๆ ที่ได้วางไว้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน รวมถึง บมจ. ปตท. ถือเป็นบริษัทที่มีกำไรสูง มีสภาพคล่องจำนวนมากเช่นกัน ก็ได้เสนอแนะให้หันมาลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่สอดรับกับการพัฒนาประเทศให้มากขึ้น แทนการลงทุนในต่างประเทศด้วย โดยทั้งหมดได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ติดตาม
"ยังมีรัฐวิสาหกิจไม่กี่แห่งที่ตกเบิกอยู่ ก็ได้มอบหมายให้ สคร. เร่งติดตามเพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปได้ด้วยดี อยากให้ทุกอย่างเดินหน้าอย่างราบรื่น ไม่อยากให้การเบิกจ่ายบางช่วงล่าช้าเหมือนการตกท้องช้าง ขับเคลื่อนได้น้อยแบบนั้นไม่เอา และไม่อยากให้มาเร่งในช่วงสุดท้าย ไตรมาส 4 ก็ไม่เอาเหมือนกัน เพราะจากที่ผ่านมาไตรมาส 3 จะน้อย แล้วค่อยมาเร่งช่วงสุดท้าย แบบนี้ไม่เอา ก็อยากให้ สคร. ช่วยดูแล" นายสมคิด กล่าว
พร้อมระบุว่า ได้มอบนโยบายให้ทุกรัฐวิสาหกิจเร่งลงทุนใน Big Data โดยต้องการให้ทุกหน่วยงานเอาจริงเอาจังและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีแผนการลงทุนในเรื่องดังกล่าวเลย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ จึงได้ขอให้แต่ละรัฐวิสาหกิจกลับไปพิจารณา ซึ่ง CEO ของแต่ละรัฐวิสาหกิจรับทราบแล้ว และจะกลับไปร่างแผนงานก่อนหารือคุยกับ สคร. อีกครั้ง
ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจต้องการของบประมาณเพิ่มเติมก็ให้ทำเรื่องเสนอมายัง สคร. หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เพื่อจะได้มีการพิจารณาให้ โดยยืนยันว่ารัฐบาลยินดีหากจะมีการลงทุนในดิจิทัล เพราะจะถือเป็นการยกระดับองค์กรด้วย