ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้การส่งออกสินค้าไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.61) จะขยายตัวสูงต่อเนื่อง แต่ด้วยหลายปัจจัยท้าทายที่ยังต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าไทยในปี 2561 ไว้ที่ 4.5% (กรอบ 2.0-7.0%) เพื่อรอประเมินภาพการค้าโลก และพลวัตรของมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศ ต่อการส่งออกสินค้าไทยต่อไปอีกสักระยะ
สำหรับข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนก.พ.61 ยังสะท้อนภาพอุปสงค์ต่างประเทศที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง แม้ในเดือนที่ผ่านมา จะมีปัจจัยเรื่องฐานที่สูงจากการเหลื่อมเดือนระหว่างปี 2560 และปี 2561 ของเทศกาลตรุษจีน แต่การส่งออกสินค้าของไทยยังขยายตัวได้ดีที่ 10.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 20,365.2 ล้านดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในเดือนก.พ.61 หลักๆ มาจากโมเมนตัมการฟื้นตัวที่เข้มแข็งและต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยูโรโซน จีน และญี่ปุ่น ซึ่งช่วยหนุนความต้องการสินค้าไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply chain)
นอกจากนี้ ยังได้อานิสงส์จากปัจจัยบวกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น 1.การส่งออกข้าวที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการส่งมอบข้าวจากการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับบังกลาเทศและอินโดนีเซีย รวมถึงคำสั่งซื้อข้าวไทยที่เพิ่มขึ้นจากประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น เบนิน แอฟริกาใต้ อังโกลา โตโก ฯลฯ 2.การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่ในเดือนก.พ. ขยายตัวสูงถึง 17.8% จากการส่งออกรถยนต์นั่ง และรถปิคอัพ/รถบัส/รถบรรทุกไปยังตลาดโอเชียเนีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงการส่งออกอุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ไปตลาดญี่ปุ่นที่กลับมาขยายตัวสูง
หากพิจารณาในด้านตลาดส่งออก พบว่า การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดญี่ปุ่นเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 41.1% คิดเป็นมูลค่า 2,408.5 ล้านดอลลาร์ฯ โดยเป็นผลมาจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมากในหมวดสินค้ายานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ รวมถึงสินค้าในหมวดอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นขยายตัวสูงมากเพียงแค่ครั้งเดียว (One-off)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองต่อภาพการส่งออกสินค้าไทยในช่วงไตรมาสที่ 1/2561 (ม.ค.-มี.ค.) ว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นแรงหนุนสำคัญของการส่งออกสินค้าไทย ในขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาในช่วงเดือนมี.ค.61 อย่างการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเหล็ก ที่ 25% และอะลูมิเนียม ที่ 10% จากคู่ค้าเกือบทุกประเทศ ยกเว้นแคนาดาและเม็กซิโก โดยใช้เหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศตามมาตรา 232 (Section 232 of the Trade Expansion Act of 1962) ยังไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อการส่งออกสินค้าไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี
ทั้งนี้ การค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องเผชิญ
1. พลวัตรของมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศ หลังสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมตามมาตรา 232 เพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในช่วงวันที่ 23-24 มีนาคม 2561 โดยยังต้องติดตามต่อไปว่า สหรัฐฯ จะมีการเจรจาเพื่อยกเว้นภาษีให้กับจีนและสหภาพยุโรปในการนำเข้าสินค้า 2 กลุ่มนี้หรือไม่ และถ้าหากสหรัฐฯ ยืนยันที่จะยกเว้นภาษีนำเข้าให้เพียงแค่แคนาดาและเม็กซิโก จีนและสหภาพยุโรปจะมีแนวทางการตอบโต้มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในครั้งนี้อย่างไร
นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนกว่า 100 รายการ มูลค่าราว 60,000 ล้านดอลลาร์ฯ จากเหตุผลด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) และข้อกำหนดการถ่ายโอนเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไปยังบริษัทจีนอย่างไม่เหมาะสม โดยสินค้านำเข้าจากจีนจะถูกเรียกเก็บภาษี ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าขั้นกลางน้ำของไทยไปยังตลาดจีน โดยเฉพาะสินค้า
2. ประเด็นเรื่องการผันผวนของค่าเงินบาทจากพลวัตรของมาตรการกีดกันทางการค้า และรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะออกมาในช่วงเดือนเม.ย.61 รวมถึงการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2561 จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจส่งออกในการบริหารจัดการกำไรส่วนต่าง (Margin)
"จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ขอรอติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทยไปอีกสักระยะ และยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยตลอดทั้งปี 2561 ไว้ที่ 4.5%" เอกสารเผยแพร่ระบุ