นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม 2561 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ว่า ในการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีการค้าและผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) กว่า 50 ประเทศในครั้งนี้ เพื่อหารือแนวทางขับเคลื่อนระบบการค้าพหุภาคีให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดจัดการกับประเด็นที่ค้างการหารือมานานและยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งไทยได้เน้นย้ำนโยบายในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าพหุภาคี และการปฏิบัติตามกฎกติกาการค้าโลก เพื่อความเป็นธรรมและเท่าเทียมทางการค้า และไทยพร้อมร่วมมือกับสมาชิก WTO หาแนวทางรับมือกับการที่หลายประเทศหันมาใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบ WTO ซึ่งอาจมีผลต่อการค้าโลกในภาพรวม
นายสกนธ์ กล่าวเสริมว่า สมาชิกต่างเห็นพ้องกันที่จะสนับสนุนระบบกฎเกณฑ์การค้าโลก และลดอุปสรรคทางการค้า พร้อมขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และต่อต้านการใช้มาตรการปกป้องทางการค้าซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อระบบการค้าโลก ที่ประชุมฯ ยังเห็นพ้องให้สมาชิกเร่งปฏิบัติตามผลการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 11 เมื่อเดือนธันวาคม 2560 ที่ระบุให้สมาชิกเร่งจัดทำความตกลงเรื่องการอุดหนุนประมงให้แล้วเสร็จภายในการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 ที่กำหนดจัดในปี 2562 รวมทั้งเห็นว่าการเจรจาภายใต้ WTO ยังมีบางประเด็นที่ติดขัด เช่น กลไกการระงับข้อพิพาทที่ต้องเร่งหารือเพื่อหาทางออกต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมสนับสนุนให้แต่ละประเทศมีความยืดหยุ่น และประนีประนอมมากขึ้นในการหารือประเด็นต่างๆ รวมทั้งให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใส และเปิดกว้างให้สมาชิกทุกประเทศมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม เพื่อให้การเจรจาคืบหน้าไปได้ และเห็นว่าสมาชิกควรเร่งหารือในประเด็นคงค้างสำคัญ เช่น การเปิดตลาดสินค้าเกษตร การเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม และการค้าบริการ รวมทั้งประเด็นใหม่ อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ตลอดจนพิจารณาแนวทางหรือรูปแบบการหารือใหม่ ๆ เพื่อให้การเจรจาดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของกลไกการระงับข้อพิพาทอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อขจัดข้อขัดแย้งทางการค้า
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า การประชุมระดับรัฐมนตรี WTO อย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าสมาชิกยังคงให้ความสำคัญกับระบบการค้าพหุภาคี และจะร่วมมือในการผลักดันการเจรจาให้ขยายผลอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีต่อไปในระยะยาว เพื่อให้สมาชิกสามารถรักษาผลประโยชน์ทางการค้า และป้องกันการใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม