ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และจีน อาจได้รับผลกระทบหากมีการเก็บภาษีสินค้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตและจีนได้ส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ เป็นสินค้าขั้นสุดท้าย ซึ่ง SCB EIC พบว่าสินค้าที่มีสัดส่วนสำคัญของการส่งออกไทย อยู่ในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว และมีความเสี่ยงจะถูกเก็บภาษี ได้แก่ 1) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า, กล้องถ่ายรูป, LCD, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์, และ CPU (มีสัดส่วนรวม 23% ของการส่งออกจากไทยไปจีนทั้งหมด) ซึ่งจีนใช้สินค้าดังกล่าวในผลิตโทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และ CPU เพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ และ 2) พลาสติกขั้นพื้นฐาน (สัดส่วน 10% ของการส่งออกจากไทยไปจีนทั้งหมด) ซึ่งเป็นสินค้าที่ทางจีนใช้ผลิตของเล่นและผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยังสหรัฐฯ (รูปที่ 1) ทั้งนี้ จีนอาจนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยน้อยลงเนื่องจากจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลง
อย่างไรก็ตาม ไทยอาจได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแผนการลงทุนของจีน และหากสหรัฐฯ นำเข้าจากไทยมากขึ้น ถึงแม้จะยังไม่มีรายละเอียดสินค้าที่จะถูกเก็บภาษี ทางทำเนียบขาวระบุว่าจะพยายามจำกัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยตรงให้น้อยที่สุด ซึ่งมีแนวโน้มว่าทางสหรัฐฯ จะเลือกเก็บภาษีในสินค้าที่สามารถนำเข้าจากประเทศอื่นทดแทนได้ ทำให้สินค้าจากไทยบางชนิดอาจส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มมากขึ้น อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไทยมีการส่งไปสหรัฐฯ อยู่มีมูลค่ารวมกว่า 48% ของการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ทั้งหมด นอกจากนี้ การเล็งเก็บภาษีจากจีนเพียงประเทศเดียวก็อาจทำให้บริษัทจีนพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนโดยอาจขยายกำลังการผลิตไปในประเทศอื่นแทนได้ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จีนอาจเข้ามาลงทุนเพิ่มเพื่อผลิตสินค้าที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ และท้ายที่สุดแล้วก็จะทำให้ไทยมีการส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ต้องจับตาต่อเนื่องถึงรายละเอียดการเก็บภาษีที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงรวมถึงผ่อนผันได้ในอนาคต จากการที่ทาง USTR จะประกาศรายชื่อสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ ก็ยังมีความเป็นไปว่ารายชื่อดังกล่าวอาจถูกเปลี่ยนแปลงได้หลังจากนั้น เนื่องจากทางสหรัฐฯ ยังให้เวลารับฟังความเห็นจากประชาชนอีก 30 วันหลังจากรายชื่อสินค้าถูกเปิดเผย เพื่อที่จะทำการทบทวนและออกมาตรการเก็บภาษีอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าภาคเอกชนในสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในสินค้าที่จะกระทบต่อธุรกิจรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเจรจากับทางการจีนเพื่อลดความรุนแรงของมาตรการลง
อนึ่ง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 61 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามใน presidential memorandum มีคำสั่งให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative: USTR) พิจารณาเก็บภาษีนำเข้า (import tariff) ที่อัตรา 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวมราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าราว 2.5% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ หรือ 11.4% ของการนำเข้าจากจีนในปี 60 ทั้งนี้ USTR จะต้องนำเสนอรายชื่อสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีภายใน 15 วันหลังจากนี้
ขณะที่ ทางการจีนออกมาตอบโต้ เล็งเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ กว่า 128 รายการ มีมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มถูกเก็บภาษีได้แก่ ท่อเหล็ก ผลไม้ และไวน์ที่อัตรา 15% และเนื้อหมูและอลูมิเนียมรีไซเคิลที่อัตรา 25%
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลต่อไทยในประเด็นนี้ในเบื้องต้นมองว่าจะกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยไปจีนในสินค้าขั้นกลางประเภทแผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์โทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าของจีนในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ในกลุ่มเทคโนโลยีน่าจะมีการเร่งส่งออกไปทำตลาดสหรัฐฯ ก่อนที่ราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น จากนั้นจะทยอยปรับตัวสู่ภาวะปกติเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจำเป็นต้องติดตามท่าทีการเจรจาของทั้งสองผ่ายต่อไป
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน น่าจะนำมาสู่ข้อยุติที่ไม่ก่อให้เกิดสงครามการค้าในรอบต่อๆไป โดยอาจเป็นไปได้ว่ามาตรการนี้จะส่งผลแบบเลือกกีดกันเฉพาะบางกลุ่มสินค้าของจีน ซึ่งสหรัฐฯ น่าจะพิจารณาจากสินค้าที่สามารถหาแหล่งอื่นทดแทนได้ ไม่กระทบต่อผู้บริโภค และส่งผลต่อสหรัฐฯ ไม่มากนัก อาทิ อาจเลือกกีดกันเฉพาะสมาร์ทโฟนที่มาจากบริษัทจีน หรือสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าและของเล่น ซึ่งทำให้คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยเพราะสินค้าไทยมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่การผลิตของจีนในกลุ่มนี้ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่เป็นการกีดกันครอบคลุมถึงสินค้าอื่นๆ รวมถึงแทบเล็ต คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือหากลุกลามมายังสินค้ายานยนต์ที่ก็เป็นหนึ่งในสินค้าเทคโนโลยีไฮเทคของจีน ก็อาจส่งผ่านผลกระทบมายังห่วงโซ่การผลิตของไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยกลุ่มแผงวงจรไฟฟ้าและฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ
นอกจากนี้ หากมาตรการกีดกันการค้ากับจีนบังคับใช้ขึ้นอย่างเป็นทางการไม่ว่าจะรูปแบบใด และสหรัฐฯ ไม่ได้ใช้มาตรการนี้กับไทย คงต้องจับตาการปรับเปลี่ยนฐานห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคเอเชียที่สำคัญ 2 ด้าน คือ การส่งออกสินค้าของไทยไปจีน ในกลุ่มส่วนประกอบและชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนอาจเบนเข็มตลาดไปยังเวียดนามแทน ซึ่งเวียดนามอาจกลายเป็นแหล่งผลิตแทนจีนได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่วัตถุดิบขั้นกลางสำหรับคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแม้ไทยจะส่งออกไปจีนได้น้อยลง แต่ทางกลับกันไทยน่าจะได้อานิสงส์จากการขยายกำลังการผลิตที่มีอยู่เดิมในไทยเพื่อส่งออกไปประกอบในสหรัฐฯ หรือในฐานการผลิตประเทศอื่นก็ตาม ทดแทนการส่งออกจากจีน อย่างไรก็ดี การจะส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าจีนดังกล่าว คงต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกันทั้งประเภทสินค้าเหมือนกันหรือไม่ สามารถขยายกำลังผลิตได้แค่ไหนรวมถึงต้นทุนการผลิตรวมค่าขนส่งที่สามารถแข่งขันได้
อย่างไรก็ดี แม้ในเวลานี้ไทยยังไม่ได้รับข้อยกเว้นใดๆ จากมาตรการที่สหรัฐฯ ประกาศและล่าสุดมีรายงานว่าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อาจหดตัวลง 35-45% เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเตรียมแผนงานรับมือ ประกอบกับไทยเองก็เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงยังเป็นเป้าหมายที่สหรัฐฯ ต้องการกดดัน โดยจำเป็นต้องติดตามรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะรายงานออกมาในเดือนเม.ย.นี้ว่าไทยยังคงอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าทำการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน (Currency manipulation) หรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลทางอ้อมให้ค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวนมากขึ้น อันจะเกิดผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทย และส่วนต่างกำไรของผู้ส่งออกที่คงจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นตามภาวะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนสูง