เกษตรกรเลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา เชื่อมั่นระบบการเลี้ยง 3 สะอาด ช่วยให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งประสบความสำเร็จป้องกันปัญหาโรคขี้ขาว ที่ส่งผลกระทบฟาร์มเลี้ยงกุ้งในหลายพื้นที่ รวมทั้งช่วยป้องกันโรคตายด่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ช่วยให้เกษตรกรสามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ รวมทั้ง ช่วยเพิ่มความแน่นอนของผลผลิตและช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
นายปรีชา สุขเกษม เจ้าของฟาร์มศรีสงขลาฟาร์ม กล่าวว่า โรคขี้ขาว ซึ่งเกิดจากเชื้อไมโครสปอร์ริเดีย ที่พบอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป เช่น น้ำ ตะกอนดินที่หมักหมมก้นบ่อ ซึ่งแม้ลูกพันธุ์กุ้งที่ปล่อยลงเลี้ยงจะมีคุณภาพดีแต่หากปล่อยในบ่อเลี้ยงที่ไม่สะอาดและมีการจัดการการเลี้ยงที่ไม่ดี มีสารอินทรีย์ที่ตกค้างในบ่อ เช่น ซากกุ้ง ซากแพลงตอน เศษอาหารที่เหลือจากกุ้งกินไม่หมด ของเสียที่เป็นสารอนินทรีย์ คือ ก๊าซพิษ แอมโมเนีย สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้กุ้งเป็นโรคขี้ขาวได้
"ในปี 2560 ที่ผ่านมา ฟาร์มเลี้ยงกุ้งของตนไม่เจอโรคขี้ขาวเลย จากการจัดการสุขาภิบาลฟาร์มกุ้งด้วยระบบ 3 สะอาด ตามที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ถ่ายทอดแก่เกษตรกรเพื่อต่อสู้กับโรคตายด่วน โดยเน้นดูแลให้ฟาร์มและบ่อเลี้ยงมีความสะอาดอยู่เสมอ ขจัดสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคระหว่างการเลี้ยงกุ้งให้มากที่สุด ซึ่งช่วยให้ผู้เลี้ยงกุ้งรับมือกับโรคต่างๆ ได้ รวมทั้งโรคขี้ขาวในกุ้ง"นายปรีชา กล่าว
นายปรีชากล่าวว่า หลัก 3 สะอาดจะเน้นความสะอาดของ 3 ปัจจัยหลักของการเลี้ยงกุ้ง ได้แก่ 1) น้ำสะอาด การบริหารจัดการน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งสะอาดอยู่เสมอ 2) ลูกกุ้งสะอาด เน้นเลือกใช้ลูกกุ้งที่มาจากแหล่งเพาะที่มีมาตรฐานการป้องกันโรค สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 3) พื้นบ่อสะอาด การจัดการพื้นบ่อเลี้ยงกุ้งต้องสะอาด ไม่เป็นแหล่งสะสมของเสียที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้
"ระบบ 3 สะอาดช่วยให้การเลี้ยงกุ้งมีความยั่งยืน ด้วยบริหารจัดการการเลี้ยงกุ้งดีขึ้น ในปีที่ผ่านมา ฟาร์มศรีสงขลายังไม่เจอกับโรคขี้ขาวเลย ได้ผลผลิตที่แน่นอน และเป็นการเลี้ยงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" นายปรีชากล่าว
พร้อมกันนี้ ยังแนะเคล็ดลับเกษตรกรที่ต้องการจัดการกับโรคขี้ขาวว่า หัวใจของการป้องกันโรคขี้ขาวของฟาร์มศรีสงขลา คือ การกำจัดของเสียออกที่เป็นสาเหตุหลักของโรคขี้ขาวออกให้มากที่สุด ที่ผ่านมา ฟาร์มเน้นการบริหารจัดการน้ำในฟาร์มให้สะอาด และเตรียมปริมาณน้ำใช้ให้มีอย่างเพียงพอตลอดการเลี้ยง ทั้งฟาร์มปรับลดพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งเหลือเพียงร้อยละ 30 ของพื้นที่ฟาร์มทั้งหมด และพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นบ่อสำหรับเก็บน้ำ แบ่งเป็นบ่อปรับคุณภาพน้ำ และบ่อพักน้ำสะอาด ประการที่สอง การกำจัดของเสียในบ่อ โดยการปรับพื้นบ่อให้เป็นหลุมตรงกลาง และใช้กระแสน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง เพื่อให้ของเสียไหลมารวมที่หลุมกลางบ่อให้มากที่สุด และดูดของเสียออกจากบ่อไปเก็บในบ่อบำบัดให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มีของเสียตกค้างในบ่อ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยป้องกันกุ้งเป็นโรค และผลผลิตเป็นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
"หลัก 3 สะอาด" เป็นแนวทางเลี้ยงที่เน้นในเรื่องของความสะอาดในการทุกขั้นตอน ซึ่งนับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เป็นทางเลือกของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ที่ไม่เพียงแต่จะเอาชนะโรคขี้ขาวได้แล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรสามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ อาทิ สภาพแวดล้อมและภูมิอากาศที่ผันผวน ที่ส่งผลกระทบต่อความแน่นอนของผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร
ศรีสงขลาฟาร์ม เป็นหนึ่งในฟาร์มเลี้ยงกุ้งไทยที่ได้รับผลกระทบจากโรคตายด่วนรุนแรงจนแทบเลิกการเลี้ยงกุ้ง หลังจาเกนำแนวทางของ 3 สะอาดมาใช้ ปรากฎว่า ศรีสงขลาฟาร์มประสบความสำเร็จสามารถจัดการโรคตายด่วนได้ รวมถึงผลผลิตต่อไร่ยังเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง