พาณิชย์เร่งให้ความรู้หลักประกันทางธุรกิจ 4 ประเภทช่วย SME เข้าถึงแหล่งทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday March 25, 2018 08:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยกระทรวงพาณิชย์ขานรับกรณีกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยให้มีผู้รับหลักประกันเพิ่มเติมอีก 4 ประเภท ได้แก่ 1.สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เฉพาะกรณีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 2.ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ เฉพาะกรณีการให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงิน 3.นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลิสซิ่ง และ 4.นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ ทำให้ปัจจุบันมีผู้รับหลักประกันตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจทั้งหมดรวม 13 ประเภท

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า เพื่อให้ผู้รับหลักประกันที่เพิ่มเติมขึ้นมาอีก 4 ประเภท มีความรู้ด้านการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ทั้งในส่วนของรายละเอียดกฎหมายและระบบงานจดทะเบียนสัญญาหลักประกันฯ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้เร่งดำเนินการเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจทันที ทั้งในส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง จำนวน 2 ครั้ง ส่วนภูมิภาค : จัดขึ้นวันอังคารที่ 20 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมดวงตะวัน จ.เชียงใหม่ (ดำเนินการไปแล้ว) และส่วนกลาง : จัดขึ้นวันอังคารที่ 27 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี โดยกรมฯ ได้ระดมผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและระบบงานหลักประกันฯ เสริมแกร่งทักษะรอบด้านแก่ผู้รับหลักประกันทั้ง 4 ประเภทที่เพิ่มเติม รวมถึงผู้รับหลักประกันเดิมที่ต้องการเข้าร่วมอบรมฯ เพื่อให้ผู้รับหลักประกันเข้าใจในรายละเอียดของกฎหมายหลักประกันฯ มากที่สุด และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น

"การเพิ่มเติมผู้รับหลักประกันขึ้นอีก 4 ประเภทจะเป็นการส่งเสริมให้การดำเนินการตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเป็นไปอย่างกว้างขวาง เป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอีกด้วย" นางกุลณี กล่าว

โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 22 มี.ค.61 มีสถาบันการเงินและผู้รับหลักประกันอื่นจำนวนทั้งสิ้น 48 ราย แบ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์ 15 ราย ธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศ 13 ราย ธนาคารของรัฐ 6 ราย บริษัทแฟคเตอริ่ง 5 ราย บริษัทประกันภัย 3 ราย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 3 ราย บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 1 ราย บริษัทบริหารสินทรัพย์ 1 ราย และบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม 1 ราย

ทั้งนี้ นับตั้งแต่พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 22 มีนาคม 2561) มีผู้ใช้บริการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวนทั้งสิ้น 194,735 คำขอ รวมมูลค่าทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 4,429,224 ล้านบาท โดยประเภททรัพย์สินที่นำมาจดทะเบียนมากที่สุด คือ สิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร คิดเป็นร้อยละ 53.26 (มูลค่า 2,358,930 ล้านบาท) รองลงมา คือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สิทธิการเช่า คิดเป็นร้อยละ 24.92 (มูลค่า 1,103,539 ล้านบาท) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน คิดเป็นร้อยละ 21.78 (มูลค่า 964,780 ล้านบาท) และทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.04 (มูลค่า 1,975 ล้านบาท)"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ