นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ครบรอบ 121 ปี ว่า การดำเนินของ รฟท.ในช่วง 8 ปีนับจากนี้ไปจะเน้น 3 เรื่องคือ เรื่องแรกการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟทางคู่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดย 2 ปีที่ผ่านมาได้ลงทุนรถไฟทางคู่เฟสแรก จำนวน 5 เส้นทางแล้ว มีวงเงินลงทุนรวมราว 1.2 แสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างและจะมีรถไฟทางคู่เฟส 2 รวมเส้นทางใหม่ รวมเป็น 9 เส้นทาง วงเงินลงทุนราว 4.3 แสนบ้านบาท, การก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง และรถไฟเชื่อมโยงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 4 โครงการ
"รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟระหว่างเมืองคือรถไฟทางคู่ ส่วนรถไฟเชื่อมระหว่างประเทศและรถไฟท่องเที่ยว จะเป็นรถไฟความเร็วสูง เหล่านนี้เป็นโครงการในยุครัฐบาลนี้" นายอาคม กล่าว
เรื่องที่ 2 การให้บริการ ขณะนี้มีรถไฟรุ่นใหม่ให้บริการอยู่แล้ว 5 ขบวน ในอนาคตจะเพิ่มรถไฟขบวนใหม่สำหรับรถไฟทางคู่ที่มีความต้องการมากขึ้น รฟท.อยู่ระหว่างจัดหาขบวนรถเข้ามาเพื่อรองรับเส้นทางรถไฟทางคู่ที่เพิ่มขึ้น และรถหัวจักรดีเซล พร้อมทั้งปรับปรุงตั๋วให้ทันสมัย ง่ายต่อการจองตั๋ว และการใช้ตั๋วร่วม
เรื่องที่ 3 การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยใช้สถานีหลักคือ บางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีแม่น้ำ ทั้ง 3 สถานี โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้มาช่วยศึกษา โดยสถานีบางซื่อจะมีความหลากหลายเพราะเป็นศูนย์กลางการเดินทาง มีทั้งช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ ศูนย์การประชุมนานาชาติ โรงแรม ที่พัก และสวนสาธารณะ ดังนั้นมูลค่าทางเศรษฐกิจน่าจะมาก ส่วนสถานีมักกะสันจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งที่อยู่ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และอีกส่วนที่ รฟท.จะบริหารเอง จะพัฒนาเป็นย่านการค้าและธุรกิจตามแนวคิดที่ JICA เสนอเป็นย่านธุรกิจคล้ายสีลม เพราะสถานีมักกะสันเป็นจุดเขื่อมต่อทั้งสถานีรถไฟฟ้า ส่วนสถานีแม่น้ำ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่และให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของคนกรุงเทพ ให้ประชาชนเข้ามาพักผ่อน
"รถไฟทางคู่จะแล้วเสร็จเส้นแรกเริ่มเดินรถได้ในปี 64 ต้องมีรถมาวิ่ง รฟท.อยู่ระหว่างการจัดหารถไฟขบวนใหม่เพิ่มขึ้นต้องลงทุนเพิ่ม...การรถไฟฯ เปลี่ยนโฉมไปหลังจากนี้ เพราะระบบรถไฟมีความพร้อมมากขึ้น เพราะทางรถไฟจะมากขึ้นกว่าเท่าตัว และ capacity เพิ่มขึ้น 4 เท่า ต่อไปเราจะส่งเสริมคนเดินทางด้วยรถไฟมากขึ้น มีความแม่นยำเรื่องเวลา กำหนดระยะเวลาเดินทางได้ และปริมาณรองรับคนมากขึ้น ส่วนสินค้ามีปริมาณขนส่งได้มากขึ้น" นายอาคม กล่าว
ทั้งนี้ หลังเพิ่มรถไฟทางคู่ 14 เส้นทาง และรถไฟทางคู่เส้นใหม่ 2 เส้นทาง รวมระยะทาง 3,257 กม. หรือ 65.33% ของเส้นทางรถไฟทั้งประเทศ และความจุทางเพิ่มขึ้น 4 เท่าของโครงข่ายรถไฟเดิม
นายอาคม คาดว่า จะเสนอโครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางใหม่ คือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทางรวม 681 กิโลเมตร (กม.) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเดือน พ.ค.61 จากเดิมคาดว่าจะเสนอเข้าได้ในเดือน เม.ย.61 เนื่องจากต้องรอให้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสียก่อน
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้ทางจีนแก้ไขแบบงานก่อสร้างตอนที่ 2 ระยะทาง 11 กม. หลังจากนั้นคาดว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะออกร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) และเปิดประมูลได้ในเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนที่เหลือตอนที่ 3-14 นั้นคาดว่าทางจีนจะทยอยส่งแบบมาให้ และทยอยเปิดประมูลให้ได้ครบภายในปีนี้ ซึ่งไทยก็ได้เร่งทางจีนให้ส่งแบบให้เสร็จภายในปีนี้ หลังจากเริ่มงานระบบราง
ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา
ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และรักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า ในปีนี้ รฟท.จะจัดตั้งบริษัทย่อย 2 บริษัท บริษัทแรกจัดตั้งเพื่อบริหารการเดินรถรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีแผนเปิดให้บริการช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในปี 63 คาดจะมีผู้โดยสารใช้บริการ 410,000 คน-เที่ยว/วัน ในปี 64 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,080,000 คน-เที่ยว/วัน ในปี 74
ส่วนบริษัทย่อยอีกแห่งจะดูแลการบริหารทรัพย์สินของ รฟท.หลักๆ เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มี 4 แปลงใหญ่ คือ ย่านสถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่ 1,100 ไร่, ย่านสถานีมักกะสัน มีพื้นที่ 497 ไร่, ย่านสถานีแม่น้ำ มีพื้นที่ 277 ไร่ และโรงแรมหัวหิน มีพื้นที่ 72 ไร่ และการพัฒนาย่านสถานีรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 13 สถานี พื้นที่รวม 657 ไร่ และระยะที่ 2 อีก 12 สถานี พื้นที่รวม 1,685 ไร่และพัฒนาย่านสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 7 สถานี พื้นที่รวม 97 ไร่
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รฟท.จะนำพื้นที่มักกะสันบางส่วนให้เอกชนเช่าใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ คาดจะได้รับผลตอบแทนราว 5-6 หมื่นล้านบาทในช่วง 50 ปี และโอนสิทธิ์การเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งก์ ซึ่งจะคำนวณรายได้ช่วง 50 ปีที่เอกชนต้องส่งให้ รฟท.
รฟท.จะพัฒนาโครงข่ายรถไฟสนับสนุการพัฒนา EEC นอกจากโครงการรถไฟความเร็วความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีโครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ (แหลมฉบัง-สัตหีบ-มาบตาพุด) ส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางทะเลให้สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ในพื้นที่ EEC และทางรถไฟสายใหม่ทั้งช่วงศรีราชา-ระยอง และระยอง-จันทบุรี-ตราด จะช่วยเปิดพื้นที่การให้บริการของระบบรถไฟเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้จะมีการพัฒนาการบริการ ได้แก่ การพัฒนาระบบจำหน่ายตั๋ว D-Ticket การจัดหารถไฟดีเซลราง 186 คัน แผนบริหารจัดการหัวรถจักรและรถพ่วง การพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าทางรางทั่วประเทศ
นายอานนท์ กล่าวว่า ตามแผนฟื้นฟูคาดว่าในปี 64 หลังจาก รฟท.เดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงแล้วจะมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวก และคาดว่าในปี 66 จะเริ่มมีกำไร ทั้งนี้ รฟท.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาจากการเดินรถไฟสายสีแดง และรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งการขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้เมื่อโครงการต่างๆ พัฒนาแล้วจะทำให้มีผู้โดยสารรวมเพิ่มขึ้นเป็น 79.90 ล้านคน/ปี ความเร็วเฉลี่ยรถไฟโดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 100 กม./ชม. จากเดิม 60 กม./ชม. ปริมาณสินค้าโดยรวมเพิ่มเป็น 46.86 ล้านตัน/ปี สัดส่วนปริมาณการขนส่งทางรางเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากปี 58 อยู่ที่ 1.4%