นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ระยะเวลาที่ประเทศไทยจะนำเทคโนโลยี 5G มาให้บริการ น่าจะต้องรอให้เกิดตัวอย่างจากประเทศที่เอาเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ชัดเจนก่อน จากนั้นจึงเริ่มลงทุนเมื่อความพร้อมของเทคโนโลยี ความพร้อมในการลงทุน และความคุ้มทุนที่จะลงทุนน่าจะทำให้การลงทุนคุ้มค่า
อย่างไรก็ดีการนำเทคโนโลยี 5G มาให้บริการ ผู้กำกับดูแลต้องทบทวนถึงแผนการใช้คลื่นความถี่ให้มีความเหมาะสม เนื่องจากเทคโนโลยี 5G จะต้องใช้คลื่นความถี่หลายย่านรวมกัน จึงต้องทบทวนถึงคลื่นความถี่ที่จะนำมารองรับ อาทิ คลื่นความถี่ต่ำย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ หากทีวีดิจิทัลยุติการออกอากาศในระบบอะนาล็อกภายในปี 63 การนำคลื่นความถี่มาประมูลใหม่ก็จะทำได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันต้องดูความพร้อมของผู้ให้บริการที่จะต้องลงทุนปรับปรุงเครือข่าย
"ต้องไม่ลืมว่าแม้จะมี 5G แล้ว แต่ 4G ก็ยังไม่ได้หายไปผู้ให้บริการจึงมีต้นทุนในการรักษาฐานการให้บริการ 4G และลงทุนที่จะให้บริการ 5G ด้วย"
นายเฉียง หัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความพร้อมของเทคโนโลยี 5G ทั่วโลกจะเริ่มมีความชัดเจนตั้งแต่ปีนี้ สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะมีความพร้อมให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 65
นายเฉียง กล่าวว่า ภาครัฐและทุกภาคส่วนที่จะใช้ประโยชน์จาก 5G จะต้องมาช่วยกันคิดว่าจะเอามาใช้อย่างไร ภาคส่วนใดจะได้ประโยชน์ เพื่อให้การลงทุนเหมาะสม เมื่อคำนวณแล้วเห็นถึงความคุ้มค่าในการลงทุน หากรัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเศรษฐดิจิทัล เชื่อว่าจะสามารถเอาเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์ได้
"ประเทศไทยอาจจะไม่ได้ให้บริการเชิงพาณิชย์ในระยะแรก การจะเอา 5G มาให้บริการช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความพร้อมของภาคส่วนต่างๆ เพราะ 5G ต้องมีการลงทุนค่อนข้างสูง 5G ไม่ใช่แค่คลื่นความถี่ ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องมองให้เห็นในภาพเดียวกันว่าประเทศจะไปอย่างไร" นายเฉียง กล่าว