ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดสินเชื่อ Q1/61 ฟื้นตัวเป็นบวก แม้ 2 เดือนแรกลดลงจากสิ้นปีก่อน จากแรงหนุนสินเชื่อภาคธุรกิจ-รายย่อย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 26, 2018 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนก.พ.2561 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) โดยพบว่าภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน ก.พ. 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6.7 หมื่นล้านบาท เป็น 11.05 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.61% MoM และ 4.36% YoY แต่ยังชะลอตัวจากสิ้นปีก่อนเล็กน้อย โดยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อในภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งสินเชื่อหมุนเวียน และสินเชื่อมีระยะเวลา ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอียังทยอยฟื้นตัวเป็นบวกต่อเนื่อง ส่วนสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนหลักของสินเชื่อเช่าซื้อ โดยปรับตัวดีขึ้นทั้งตลาดรถใหม่ รถมือสอง และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตยังชะลอตัวลงจากการชำระคืนหนี้ต่อเนื่องจากเดือนก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินแนวโน้มสินเชื่อในไตรมาส 1/2561 ว่า จากสถานการณ์สินเชื่อในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ แม้จะยังลดลงจากสิ้นปีก่อน แต่คาดว่าจะกลับฟื้นตัวเป็นบวกได้ในสิ้นไตรมาสแรก จากแรงหนุนของความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อรองรับการเพิ่มกำลังการผลิตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยน่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้น หลังผลการชำระคืนหนี้บัตรเครดิตทยอยลดลง รวมถึงมีผลบวกจากการขยายตัวที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของสินเชื่อเช่าซื้อ ขณะเดียวกัน การแข่งขันนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลผ่านช่องทางโมบายแบงกิ้งของธนาคารต่าง ๆ จะทยอยเพิ่มการรับรู้ของลูกค้า และคาดว่าจะนำไปสู่การเลือกใช้บริการเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับภาพรวมเงินฝากในเดือน ก.พ.2561 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน 1.4 หมื่นล้านบาท หรือ 0.12% MoM เป็น 12.18 ล้านล้านบาท แต่เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 5.92% และเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 0.69% โดยส่วนใหญ่ลดลงในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลาง ตามการไหลออกของเงินฝากระยะสั้นที่เข้ามาพักชั่วคราว และบางส่วนจากการครบกำหนดเงินฝากพิเศษ ซึ่งแม้ว่าจะมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษใหม่ในเดือนนี้หลายตัว แต่เป็นไปเพื่อรองรับเงินฝากที่ครบกำหนดเป็นหลัก โดยที่ยังไม่ปรากฏการแข่งขันด้านราคาเงินฝากพิเศษเป็นการทั่วไป ซึ่งยังย้ำภาพการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสภาพคล่องควบคู่ไปกับการดูแลต้นทุนทางการเงินของธนาคาร

ในด้านของสภาพคล่องนั้น พบว่าภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารตึงตัวขึ้นเล็กน้อย ตามการชะลอตัวลงของเงินฝากและเงินกู้ยืม สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ในเดือน ก.พ. 2561 ขยับขึ้นมาที่ 85.80% จาก 85.12% ในเดือน ม.ค. 2561 สอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ลดลงมาที่ 22.22% จาก 22.47% ในเดือนก่อนหน้า

สำหรับการบริหารจัดการเงินฝากในไตรมาสแรกของปีนี้ ยังไม่ปรากฎสัญญาณการแข่งขันด้านราคา ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ธนาคารหลายแห่งบริหารต้นทุนการเงินได้ดีขึ้น โดยที่ยังสามารถระดมเงินฝากและจัดการสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพียงพอต่อโอกาสการขยายสินเชื่อที่สูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตลอดจนประเด็นด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบทิศทางผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ และไทย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวผนวกกับแรงส่งของการปล่อยสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ อาจมีผลต่อการกำหนดราคาเงินฝากในระยะต่อไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ