คณะทำงานสานพลังประชารัฐเปิดแผนปฏิรูปท่องเที่ยว เน้นกระจายรายได้ เพิ่มขีดความสามารถสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 26, 2018 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา และหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (คณะทำงาน D3) เปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการสนับสนุนการปฏิรูปและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน หากมีการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์จากการขยายตัวจากการท่องเที่ยวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

สำหรับแนวทางการดำเนินการของคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (D3) มีบทบาทในการสนับสนุนการปฏิรูปการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ โดยให้ความสำคัญในเรื่องการซ่อมแซม บำรุงรักษา ฟื้นฟู วางระบบต่างๆ และเน้นเรื่องความสะดวก ความสะอาด ความปลอดภัย และมีเอกลักษณ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แหล่งท่องเที่ยวของไทยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน รวมถึงผนึกกำลังเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง เพื่อช่วยกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำอย่างทั่วถึง เนื่องจากปัจจุบันรายได้การท่องเที่ยวยังกระจุกตัว ซึ่งนอกจากเรื่องมาตรการภาษีท่องเที่ยวเมืองรองแล้ว การใช้ MICE ในเมืองรองก็น่าจะเป็นแนวทางที่สำคัญ เพราะค่าใช้จ่าย MICE ในเมืองรองสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ทุกบาททุกสตางค์

"เราต้องใช้ท่องเที่ยวเป็นเครื่องหมายในการก้าวไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่มองแค่เป้าหมาย เพราะเวลานี้ ตัวเลขความเหลื่อมล้ำขึ้นสูงพร้อมๆ กับตัวเลขที่บอกว่าประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงมากเป็นอันดับ 3 ของโลก แสดงว่าตัวเลข 2 ชุดนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กันอยู่ เพียงแต่เรายังแกะไม่ออกว่าสัมพันธ์กันอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือรายได้จากการท่องเที่ยวยังกระจุกตัว ยังไม่กระจาย ซึ่งก็ต้องทำให้กระจายให้ได้"รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาระบุ

นอกจากนี้ ยังได้เดินหน้าเรื่องการยกเลิก ตม.6 ซึ่งขณะนี้ดำเนินการกับคนไทยแล้ว และอยู่ระหว่างขยายผลไปที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งกฏหมายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อเครื่องมือในการทำให้ท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง โดยจะร่วมกันสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการผ่าตัดโครงสร้างของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อจะทำให้การลงมีดไม่ได้เป็นความคิดเห็นเฉพาะของฝ่ายการเมืองเท่านั้น แต่ภาคเอกชนก็อยากจะเห็นผลลัพธ์ด้วย หรือทำให้กฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ กฎหมายการประกอบธุรกิจบริษัทนำเที่ยว กฎหมายการประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ ควรจะต้องถูกผ่าตัดไปในเวลาเดียวกัน เพื่อให้กิจกรรมตามกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์เรื่องความสามารถของหุ่นยนต์ ความสามารถของระบบ Automation ระบบออฟฟิศที่จะทำให้คนจำนวนหนึ่งค่อยๆ ตกงาน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องมือเพื่อรองรับคนเหล่านั้นให้เข้ามาสู่การมีอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นรายได้หลัก รายได้เสริมก็สามารถทำได้โดยไม่มีอุปสรรคที่ไม่จำเป็น รวมทั้งจะนำการใช้ระบบประกันเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยวให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนถูกต้องมีฐาน มีรายได้เสริมจากการเป็นตัวแทนประกัน นายหน้าประกันแล้ว ยังทำให้ตัวผู้ประกอบการอยู่ในระบบการเงินอีกประเภทหนึ่ง อยู่ในระบบฐานภาษีได้ชัดขึ้น

ด้านนายชนินทธ์ โทณวณิก หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (คณะทำงาน D3) กล่าวว่า การท่องเที่ยวของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ คณะทำงานฯ จึงดำเนินโครงการเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวช่วยกระจายรายได้ไปยังภาคส่วนต่างๆ ตลอดทั้งห่วงโซ่ (Value Chain) การท่องเที่ยวผ่านเครือข่ายประชารัฐ อาทิ โครงการ "Amazing Thai Taste" ส่งเสริมการบริโภคอาหารไทย ผลไม้ไทยตามฤดูกาล ข้าวท้องถิ่น ของฝากจากอาหารไทยผ่านเครือข่ายประชารัฐ ช่วยกระจายรายได้ไปยังภาคเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2559 โดยผลสำรวจกิจกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2559 พบว่าความนิยมในการชิมอาหารไทยขึ้นเป็นอันดับ1 รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ผ่านโครงการเนรมิตอยุธยา ซึ่งจะอาศัยช่วงที่ละครกำลังฮิต คนกำลังชอบแต่งชุดไทยรีบดำเนินการ เพราะที่ผ่านมาคนเที่ยวอยุธยาน้อย และรัฐบาลยังเป็นห่วงงบประมาณที่ต้องใช้ แต่มองว่างบประมาณที่ต้องใช้กับผลที่จะได้กลับมามันผิดกันมหาศาล เพื่อให้อยุธยาเป็นเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ชั้นนำของโลก

โครงการทัวร์ริมโขงซึ่งจะอยู่ในแผนแม่บท และจัดทำแผนแม่บทเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงสู่ความเป็นสากล เชื่อมโยงเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยว สำหรับ 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ การจัดประชุมสัมมนา และท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (MICE) มาสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโต ควบคู่การยกระดับอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทยผ่านการจัดงานใหญ่ที่มีจุดเด่นต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย MICE City 5 แห่ง ได้แก่ กทม. ขอนแก่น เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต และเมืองรอง 4 แห่ง ได้แก่ เชียงราย หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี พิษณุโลก

การส่งเสริมประเทศไทยสู่การเป็น Shopping Paradise โดยปีนี้ได้เพิ่มทางเลือกในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวจากการคืนภาษีนอกบริเวณสนามบิน (Downtown VAT Refund for Tourists) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในระบบ เนื่องจากเงินที่ได้รับคืนเป็นเงินสด สามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยต่อได้ทันที โดยจะเริ่มทดลองในช่วงแรก 5 แห่งภายในต้นเดือนเมษายนนี้ ได้แก่ สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลชิดลม โรบินสัน สุขุมวิท และ ดิ เอ็มโพเรีม จากนั้นจะประเมินผลเพื่อขยายไปยังจุดอื่นๆ ต่อไป

นายชนินทร์ กล่าวต่อว่า ปัญหาอีกอย่างที่ต้องรีบแก้ไข คือ ความแออัดที่สนามบินหลัก เพราะหากไม่เร่งดำเนินการ อาจส่งผลให้การท่องเที่ยวไทยสะดุดลงได้ในช่วง 2-3 ปีจากนี้

"เพราะตอนนี้สุวรรณภูมิล้น ดอนเมืองล้น เชียงใหม่ล้น ภูเก็ตล้น เราต้องแก้ปัญหาคือรีบสร้างสนามบิน โดยอาจจะขยายสนามบินเดิม แต่ถ้าขยายไม่ได้ เช่น ที่เชียงใหม่ก็ต้องหาที่ใหม่มารองรับ ไม่เช่นนั้นการท่องเที่ยวจะโตต่อไปไม่ได้ ถ้าไม่รีบทำอะไร การท่องเที่ยวจะสะดุดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า"นายชนินทร์ กล่าว

ด้านนายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึง การยกเลิก ตม.6 ว่า จากที่คณะทำงาน D3 ได้ผลักดันให้มีการยกเลิกการใช้เอกสาร ตม.6 เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลมีการพัฒนาไปมาก สามารถใช้ช่องทางอื่นๆในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อทดแทน ตม.6 ได้ โดยยังคงมีความปลอดภัยและได้รับข้อมูลที่ต้องการครบถ้วน ส่งผลให้มีการยกเลิกการใช้ ตม.6 สำหรับคนไทยในปีที่แล้ว โดบในปีนี้ คณะทำงาน D3 จะเดินหน้าผลักดันเพื่อขยายผลการยกเลิก ตม.6 สำหรับชาวต่างชาติต่อไป คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งสำหรับการพัฒนาระบบขึ้นมาทดแทน ซึ่งในหลายส่วนก็ได้มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น ททท. พัฒนาระบบเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยว โดยใช้วิธีการทางสถิติทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลจาก ตม.6


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ