นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) มีมติเห็นชอบการขยายกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 8 พื้นที่ 12 โครงการ จำนวนรับซื้อรวม 77.9 เมกะวัตต์ (MW) จากเดิมที่กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าภายในปี 2562 เป็นภายในปี 2564 โดยยังคงอัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิมแต่ระยะรับซื้อให้สิ้นสุด ภายในปี 2572 สำหรับโครงการประเภทหลุมฝังกลบ และปี 2582 สำหรับโครงการประเภทการจัดการขยะแบบผสมผสาน เพื่อให้มีระยะเพียงพอสำหรับการดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมายร่วมทุนและกฎหมายสิ่งแวดล้อม ที่จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการบริหารจัดการขยะของประเทศ และมีกระบวนการร่วมทุนที่ถูกต้อง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาโครงการมีเวลาในการชี้แจงโครงการและบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้โครงการสามารถพัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
อนึ่ง ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจำนวนประมาณ 78 เมกะวัตต์ โดยเปิดให้ยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.60-30 มี.ค.61 และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือกภายในวันที่ 30 เม.ย.61
นอกจากนี้ที่ประชุม กบง. ยังได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการแผนอนุรักษ์พลังงานพ.ศ. 2558-2579 (EEP 2015) โดยความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผน EEP 2015 ณ ปัจจุบัน (ไม่รวมมาตรการภาคขนส่ง) ซึ่งมีเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน ปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ 703 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) โดยกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินมาตรการหลักภายใต้แผน EEP 2015 ซึ่งมีผลการอนุรักษ์พลังงาน ถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2560 คิดเป็นผลรวมประมาณ 713.42 ktoe หรือคิดเป็นร้อยละ 101.48 ของเป้าหมายปี พ.ศ. 2560
ส่วนมาตรการการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง (EE7) ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการ ECO-Sticker ที่จำนวนรถใหม่ยังไม่เป็นไปตามเป้า และกรณีของการขนส่งระบบราง โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จจึงยังไม่มีการรับรู้ผลประหยัดพลังงาน
นายศิริ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วงระยะ 5 ปีจากนี้ไปทั้งรูปแบบผู้ผลิตไฟจากเอกชนรายเล็ก (SPP) และรายเล็กมาก (VSPP) เนื่องจากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบเพียงพอกับความต้องการใช้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการส่งเสริมจากรัฐทั้งในรูปแบบ ADDER และ Feed in Tariff ส่งผลต่อค่าไฟฟ้า 20-25 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้น จึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องหาพลังงานหมุนเวียนมาเสริมในช่วงนี้ ยกเว้นโครงการที่สามารถขายไฟฟ้าในราคาไม่แพงกว่าราคาขายส่งของ กฟผ.
นอกจากนี้ กบง. ยังได้มีการพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหน้าโรงกลั่นและราคาขายปลีก เนื่องจากตลาดค้าน้ำมันสำเร็จรูปตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เดิมอ้างอิงราคาน้ำมันตลาดสากล (สิงคโปร์) บวกด้วยพรีเมียม เช่น ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งเราจะยกเลิกการบวกด้วยพรีเมียมออกไปด้วยการปรับโครงสร้างการคำนวณใหม่ โดยมอบหมายให้ สนพ.ไปศึกษา และจะเข้าที่ประชุม กบง.อีกครั้งในวันที่ 5 เม.ย.นี้