ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ และร่าง พ.ร.บ.ประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 27, 2018 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.... และร่าง พ.ร.บ.การประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ.... ตามที่การเสนอของกระทรวงการคลัง

โดยในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุนั้น เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ที่ได้ประกาศใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว ซึ่งได้มีการโอนภารกิจและอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินจากกระทรวงมหาดไทย มาเป็นของกระทรวงการคลัง แต่บทบัญญัติเดิมอาจจะไม่ชัดเจนและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงต้องมีการยกร่าง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุขึ้นใหม่

ทั้งนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามของคำว่า ที่ราชพัสดุ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น มีการกำหนดข้อยกเว้นอสังหาริมทรัพย์ที่มิใช่ที่ราชพัสดุ แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ กำหนดวิธีการของการโอนกรรมสิทธิ์ของที่ราชพัสดุ ที่ราชพัสดุอื่น และที่ราชพัสดุซึ่งตั้งอยู่นอกราชอาณาจักรไทย การกำหนดให้กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ปกครองดูแล บำรุงรักษา และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ ทั้งที่อยู่ในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักร

ส่วนร่าง พ.ร.บ.การประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่น้ำเนื้อหาในหมวด 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ (มาตรา 105-105 อัฏฐ) ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และคณะกรรมการประเมินมูลค่าทรัพย์สินประจำจังหวัด กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการประกาศใช้บัญชีกำหนดมูลค่าประเมินของทรัพย์สิน กำหนดสิทธิคัดค้านของเจ้าของที่ดินในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการเน้นย้ำอีก 3 ประเด็นสำคัญในร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ กล่าวคื 1.ให้ถือว่าการจัดหาประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุไม่ถือเป็นการร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ (พ.ร.บ.PPP) เว้นแต่คณะกรรมการ PPP จะได้กำหนดไว้ว่ากิจการใดบ้างที่ให้ถือเป็นการร่วมลงทุนได้ 2. การจัดหาประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุที่มีมูลค่าโครงการเกินกว่า 5,000 ล้านบาท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ราชพัสดุก่อนเสมอ 3.หน่วยงานที่มีหน้าที่ปกครอง ดูแล บำรุงรักษา และจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ต้องรายงานการใช้ประโยชน์ต่อกรมธนารักษ์ทุก 2 ปี

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าไปทำลายหรือทำให้เกิดความเสื่อมสภาพเสียหายในที่ราชพัสดุ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ