(เพิ่มเติม) ครม.ไฟเขียวรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในรูปแบบ PPP Net Cost กรอบวงเงินร่วมทุน 1.19 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 27, 2018 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนานาชาติ ซึ่งถือเป็นแฟลกชิพของโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของ EEC เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดย ครม.อนุมัติให้เปิดการประมูลโครงการแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ขณะที่ภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า ค่าพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งดำเนินงานบริหารและซ่อมบำรุงโครงการ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนรวมเป็นเวลา 50 ปี และเอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและความเสี่ยงด้านจำนวนผู้โดยสารของโครงการ (Ridership Risk) จัดเก็บรายได้จากการพัฒนาพื้นที่โครงการ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ได้ให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว

ทั้งนี้ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนของประกาศ กนศ.โดยเคร่งครัดต่อไป

นายณัฐพร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในโครงการดังกล่าววงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ที่เป็นมูลค่าปัจจุบันตามที่ตกลงในสัญญาร่วมลงทุน โดยทยอยจ่ายให้เอกชนหลักจากเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงทั้งระบบแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี โดยกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี และอนุมัติให้ รฟท. มีอำนาจร่วมลงทุนกับเอกชนที้ได้รับคัดเลือก

อีกทั้ง อนุมัติค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ในกรอบวงเงินจำนวน 3,570.29 ล้านบาท และยังเห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ของ รฟท. เป็นจำนวนเงิน 22,558.06 ล้านบาท

พร้อมกันนั้น ให้กำหนดพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ตั้งแต่สนามบินดอนเมืองถึงสุดเขตกรุงเทพฯ และรวมถึงสถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ภายนอกระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ "ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" เพิ่มเติม ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ รฟท. สกรศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

"เมื่อวิเคราะห์ทั้งโครงการจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจราว 7 แสนล้านบาท ผลตอบแทนจะมาจากมูลค่าเพิ่มของสนามบินอู่ตะเภา ผลตอบแทนจากพัฒนาเศรษฐกิจตลอดเส้นทาง ลดการใช้น้ำมัน ลดมลพิษ ความเจริญที่จะเกิดขึ้นรอบๆสถานีรถไฟ การจ้างงาน การใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศ และภาษีที่คาดว่าจะจัดเก็บได้มากขึ้น เพราะโครงการนี้จะรวมถึงการพัฒนาที่ดินมักกะสันด้วย"

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้จะจัดทำร่างเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) เพื่อหาผู้ประมูลโครงการ และเมื่อได้ตัวเลขงบประมาณที่แน่ชัดก็จะเสนอเข้าครม.อีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ