PwC เผยนักลงทุนทั่วโลกห่วงภัยไซเบอร์กระทบการเติบโตของธุรกิจแนะลงทุนป้องกันความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 28, 2018 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ PwC 2018 Global Investor Survey พบว่า การถูกโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber attack) ถือเป็นภัยคุกคามการดำเนินธุรกิจในสายตาของนักลงทุนทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ โดย 41% ของนักลงทุนและนักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า นี่เป็นภัยคุกคามอันดับที่ 1 ของภาคธุรกิจ โดยปรับตัวขึ้นจากอันดับที่ 5 ในปี 2560 และใกล้เคียงกับมุมมองของซีอีโอทั่วโลก (40%) ที่มองว่า ภัยไซเบอร์เป็นภัยคุกคามอยู่ในลำดับที่ 3 รองจากกฎระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไป และปัญหาการก่อการร้าย ตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนถึง 64% เชื่อว่า ผู้นำธุรกิจต้องหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์เป็นภารกิจอันดับต้นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค (เทียบกับผู้นำธุรกิจทั่วโลกที่ 47%)

นอกเหนือจากภัยไซเบอร์แล้ว นักลงทุนยังได้แสดงความกังวลต่อปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง (39%) เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (37%) ประชานิยม (33%) และการคุ้มครองทางการค้า (32%)

"ปัจจัยที่นักลงทุนไทยส่วนใหญ่กังวลว่า จะกระทบการดำเนินธุรกิจนั้น ไม่แตกต่างกับนักลงทุนทั่วโลกมากนัก โดยความไม่แน่นอนทางการเมือง เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และภัยไซเบอร์ ยังคงเป็นความกังวลหลักที่นักลงทุนมองว่า จะกระทบการเติบโตของธุรกิจในระยะข้างหน้า หากไม่เร่งปรับตัว"

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจไทยเองจำเป็นจะต้องตื่นตัวในเรื่องของการกำกับดูแลความเสี่ยง และกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุมและรอบคอบ พร้อมทั้งศึกษา และลงทุนด้านเทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรของตน ควบคู่ไปกับการมีมาตรการป้องกันภัยทางไซเบอร์ที่เข้มแข็งด้วยเช่นกัน

ด้านนางสาว ฮิลลารี อีสต์แมน หัวหน้าสายงานบริหารความสัมพันธ์นักลงทุน ประจำ PwC โกลบอล กล่าวว่า ผลสำรวจยังพบว่า ทั้งนักลงทุนและซีอีโอทั่วโลกมีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมา โดย 54% ของนักลงทุนที่ทำการสำรวจ (เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อน) เชื่อว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกจะมีการปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน ขณะที่ 57% ของซีอีโอก็แสดงความเชื่อมั่นเช่นกัน (เพิ่มขึ้น 19% จากปีก่อน)

อย่างไรก็ดี นักลงทุนมีมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มการเติบโตของรายได้ของธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบกับซีอีโอทั่วโลก โดยมีนักลงทุนน้อยกว่า 1 ใน 4 หรือ 23% เท่านั้น ที่เชื่อมั่นมากว่า รายได้ของธุรกิจที่ตนลงทุนจะเติบโตในอีก 12 เดือนข้างหน้า เทียบกับความเชื่อมั่นของซีอีโอทั่วโลกที่ 42%

นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น หรือ 20% ที่เชื่อมั่นว่า รายได้ของธุรกิจที่ตนลงทุนจะเติบโตในอีก 3 ปีข้างหน้า เปรียบเทียบกับซีอีโอทั่วโลกที่ 45%

ทั้งนี้ นักลงทุนยังมองว่า กระแสของการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตของธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้ามากกว่าซีอีโอ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีการผลิตและบริการจากการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และ บล็อกเชน (85% ของนักลงทุน เทียบกับ 64% ของซีอีโอทั่วโลก) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป (81% ของนักลงทุน เทียบกับ 68% ของซีอีโอทั่วโลก) และการเปลี่ยนแปลงช่องทางการจัดจำหน่าย (76% ของนักลงทุน เทียบกับ 60% ของซีอีโอทั่วโลก)

ขณะที่มากกว่า 1 ใน 4 หรือ 26% ยังเชื่อด้วยว่า การเข้ามาของเอไอจะส่งผลให้เกิดแผนการลดจำนวนพนักงานในวงกว้างกว่าปีก่อน

"นักลงทุนคาดว่า กระแสของการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากกว่าซีอีโอ ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาว ดังนั้น การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างบริษัทและนักลงทุน จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหานี้ โดยหากผู้บริหารสามารถแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า บริษัทมีการดำเนินการในการรับมือกับความท้าทายที่เข้ามา ก็จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนในระยะยาวได้" นางสาว อีสต์แมน กล่าว

ทั้งนี้ ความกังวลอันดับต้นๆ ของนักลงทุนและซีอีโอโลก ชี้ให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย โดยดูจากปัจจัยภายในและภายนอก ประกอบกับประสบการณ์ที่ธุรกิจต้องพบเจอในแต่ละวัน เช่น ในขณะที่การเฟ้นหาพนักงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการขององค์กรถือเป็นความท้าทายของผู้บริหารในอันดับต้นๆ แต่ในมุมของนักลงทุน จะสนใจแนวโน้มของสังคมโดยรวม ที่มีผลกระทบต่อตัวธุรกิจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนทางการเมือง ประชานิยม และ การกีดกันทางการค้า

"ซีอีโอควรนำมุมมองของนักลงทุนมาพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์จากภายนอกว่า ควรมุ่งเน้นการทำธุรกิจในจุดใด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับกิจการ ผลจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ มีความกังวลต่อความเสี่ยงที่มากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมากกว่าซีอีโอ นั่นแปลว่า การลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล และการฝึกอบรม จะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้บริหาร หากต้องการเรียกความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจจากนักลงทุน"

อนึ่ง PwC ได้ศึกษามุมมองของนักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวน 663 ราย จาก 96 ประเทศทั่วโลก และทำการเปรียบเทียบกับมุมมองของซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,293 ราย


แท็ก PwC  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ