(เพิ่มเติม) กนง.ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 61 เป็นโต 4.1% จากเดิมคาด 3.9%, ปี 62 โต 4.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 28, 2018 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้เป็น 4.1% จากที่เคยคาดไว้ในระดับ 3.9% เมื่อเดือน ธ.ค.60 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มการขยายตัวได้ต่อเนื่องและดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มปี 62 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 4.1%

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กนง.ได้มีการปรับประมาณการ GDP ของไทยในปี 61 เพิ่มขึ้น เนื่องจากมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและดีขึ้นกว่าเดิมที่เคยประเมินไว้ โดยเฉพาะภาคการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตั้งปลายปีก่อน

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อย เนื่องจากราคาอาหารสดลดลงมากกว่าคาด ปัจจัยหนึ่งเป็นผลมาจากราคาอาหารสดมีความผันผวนสูง ขณะที่หมวดสินค้าอาหารสดมีน้ำหนักอยู่ในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อถึง 15% ทั้งนี้ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่กรอบล่าง (1%) ได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจโน้มไปด้านต่ำ จากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากคู่ค้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลลบต่อการค้าโลก การขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า และการส่งออกไทย

นายจาตุรงค์ มองว่า ผลกระทบจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ คือ สินค้าเหล็ก และอลูมิเนียม ที่สหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้า แต่ไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้มากนัก เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ ในปริมาณที่ไม่มาก อย่างไรก็ดีจะมีการพิจารณาผลกระทบทางอ้อมต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลง supply chain และผลกระทบต่อราคาเหล็กและอลูมิเนียม

อย่างไรก็ตาม กนง.ไม่ได้หยิบยกประเด็นเรื่องนโยบายตอบโต้ทางการค้าที่จะนำมาสู่สงครามการค้าเข้าสู่การประชุม กนง.ในรอบนี้ เนื่องจากมองว่ายังไม่ได้เกิดสงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งยังมองว่าประเด็นนี้เป็นความเสี่ยงทางด้านต่ำ

"กรรมการฯ ให้ไปดูผลกระทบทางอ้อมต่อการเปลี่ยนแปลง supply chain การปรับเปลี่ยนฐานการผลิต และผลกระทบต่อราคาเหล็ก อลูมิเนียม เพราะการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กจากสหรัฐฯ จะทำให้ผู้ผลิตจากทั่วโลกต้องหาแหล่งขายใหม่ อาจมีการแย่งตลาดกัน" นายจาตุรงค์กล่าว

ส่วนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน มองว่ายังคงมีความผันผวน เพราะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในตลาดการเงินโลก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจการคลัง นโยบายการค้าของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนนั้นส่วนใหญ่แล้วจะมาจากปัจจัยด้านต่างประเทศเป็นสำคัญ

คณะกรรมการ กนง.ยังประเมินว่า การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นมากตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกจะขยายตัวได้ 7% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4%จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จะอยู่ที่ 37.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 37.3 ล้านคนในการประมาณการครั้งก่อน

ส่วนการบริโภคภาคเอกชน จะยังขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง อีกทั้งหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ 2.3% ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และยังมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการลงทุนของภาครัฐ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ