นายสนธิรัตน์ รมว.พาณิชย์ เผยผลการนำคณะผู้บริหารเดินทางไปเยือนฮ่องกง เมื่อวันที่ 19-21 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อสานต่อความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนจากเมื่อครั้งที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เดินทางไปเยือนฮ่องกงเมื่อปี 2560 รวมถึงการที่นาง Carry Lam ผู้บริหารสูงสุดเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง เดินทางเยือนไทยเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ถึงแม้ฮ่องกงจะเป็นคู่ค้าลำดับ 8 ของไทย แต่ความสำคัญของฮ่องกงคือการเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ในด้านการเงิน โลจิสติกส์ และในอนาคต ฮ่องกงจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค รวมถึงเป็นประตูที่เชื่อมโยงกับนโยบายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (One Belt One Road) ของจีนแผ่นดินใหญ่กับโลก ขณะที่ไทยเป็นประตูการค้าสำคัญของกลุ่มประเทศ CLMV ฮ่องกงจึงถือเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทยจะเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนผ่าน Greater Bay Area (GBA) สู่จีนแผ่นดินใหญ่ตอนใต้
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การเดินทางเยือนฮ่องกงในครั้งนี้ได้เข้าพบและหารือ Mr.Paul Chan รองผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและเลขาธิการการคลัง ทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนารมย์แน่วแน่ที่จะร่วมมือยกระดับการค้าการลงทุนระหว่างกัน พร้อมเชื่อมโยง SME ของทั้งสองประเทศ โดยฮ่องกงมี SME, Start up และ Logistics ที่เข้มแข็งและมีธุรกิจที่มีความโดดเด่น โดยเฉพาะดิจิตอลเทคโนโลยี Artificial Intelligence และ Fintech ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฮ่องกงปัจจุบัน ขณะที่ไทยมี SME จำนวนมาก และมีความต้องการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่ม SME และ Startup ให้เป็นนักรบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง
"ผมเห็นว่าอะไรที่ประเทศนั้นๆ มีความโดดเด่นอยู่แล้ว เราไม่จำต้องเริ่มต้นใหม่ แต่เราสามารถร่วมมือและนำจุดเด่นที่ฮ่องกงมีในด้านอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับ SME ของไทยได้ โดยโครงการ GBA จะเป็นตัวเชื่อมโยง SME กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยผ่านฮ่องกงสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่ไทยจะเป็นแพลตฟอร์มให้แก่ฮ่องกงเชื่อมโยงสู่ CLMV ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีทรัพยากรและมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงได้" นายสนธิรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ ตนเองยังได้ร่วมหารือกับหน่วยงานด้านการค้า นักธุรกิจและผู้นำเข้ารายใหญ่ของฮ่องกง เน้นย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในอันที่ร่วมมือและขยายการค้าการลงทุนกับฮ่องกงให้เพิ่มมากขึ้น โดยนักธุรกิจและนักลงทุนจากฮ่องกงได้ตอบรับคำเชิญในการเยือนไทยเพื่อเจรจาการค้าการลงทุนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ และเพื่อตอกย้ำเจตนารมย์ความร่วมมือระหว่างภูมิภาค กระทรวงพาณิชย์ ได้มีแผนการเข้าร่วมงาน Belt and Road Summit ในเดือนมิถุนายน 2561 นี้ด้วย
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้เดินทางไปเยี่ยมชมความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานฮ่องกง-มาเก๊า-จูไห่ ซึ่งเป็นโครงการภายใต้เขต Greater Bay Area (GBA) ซึ่งหากโครงการทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถเชื่อมโยงเมืองต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (Pan-Pearl River Delta) ช่วยย่นระยะเวลาเดินทางจากเดิม 4.5 ชั่วโมง เหลือเพียง 40 นาทีเท่านั้น สอดคล้องกับแนวคิดของไทยที่ต้องการเชื่อมโยงโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) กับนโยบาย One Belt One Road ของจีน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่าน GBA เข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ได้มากยิ่งขึ้น
เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 หรือ One Belt One Road (OBOR) เป็นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของโลกที่เชื่อมจีนกับโลกผ่านเส้นทางบกและเส้นทางทะเล เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยระบายกำลังการผลิตของจีน โดยเขต The Greater Bay Area (GBA) เป็นความร่วมมือระหว่าง 11 เมืองประกอบด้วย มณฑลกวางตุ้ง 9 เมือง ฮ่องกง และมาเก๊า GBA เป็นการขยายพื้นที่เศรษฐกิจออกมาจากเขต Pearl River Delta (PRD) ซึ่งเป็นเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime silk road) โดยมีฮ่องกงทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมเขต PRD เพื่อยกระดับเขตการผลิตสินค้าราคาถูก สู่การผลิตสินค้านวัตกรรม เทคโนโลยี ตลอดจนศูนย์รวมของการค้า การขนส่ง และการเงิน กับเศรษฐกิจโลก รวมถึงเป็นตัวเชื่อมเส้นทางสายไหมทางบก (Mainland silk road) ของจีนตอนใต้กับกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย และเมื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างเขต GBA กับเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก 3 แห่ง คือ โตเกียว ซานฟรานซิสโก และนิวยอร์ค พบว่าปัจจุบัน GBA มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเป็นอันดับสองของโลก และผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะเติบโตเป็นอันดับหนึ่งของโลกในอนาคต
สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับฮ่องกง ฮ่องกงเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 8 ของไทย ในปี 2560 การค้ารวมระหว่างไทยกับฮ่องกงมีมูลค่า 15.22 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เป็นต้น โดยในปี 2561 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกไปยังจีนและฮ่องกงอยู่ที่ร้อยละ 10