นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในฐานะรักษาการ ผู้ว่าการ กยท. แทนนายธีธัช สุขสะอาด ที่มีคำสั่งให้ย้ายไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้ว่า เป็นการเข้ามารักษาการเพื่อสานต่องานเร่งด่วนคือการดูแลเกษตรกรทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้ชัดว่าวิธีการดึงราคายางให้สูงขึ้นมี 2 วิธี คือ 1. การลดปริมาณยาง ทั้งในปัจจุบันและอนาคตโดยมีนโยบายขอให้เกษตรกรชะลอการกรีดยางในช่วงนี้ และจะทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีกองทุนที่ส่งเสริมให้เกษตรกรชะลอการปลูกและโค่นยางที่มีอายุเกิน 25 ปี โดยชดเชยให้ไร่ละ 1 หมื่นบาท
2. เร่งส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ เพิ่มการใช้ยางของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น มีการสั่งซื้อยางจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย จะเริ่มต้นมีการซื้อยาง ก็ต้องไปรายละเอียดเรื่องกระบวนวิธีส่งมอบยาง วิธีขนส่งไปยังจุดต่างๆ ซึ่งตอนนี้มีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว
สำหรับการลดปริมาณยางนั้น จะเปิดเป็นทางเลือกให้เกษตรกร ว่า ซึ่งเงินที่จะนำมาใช้มี 2 ส่วน ส่วนที่เป็นของ กยท.จะมาจากเงิน CESS หรือค่าธรรมเนียมในการส่งออกยาง ตาม พ.ร.บ.การยาง ซึ่งสามารถส่งเสริมเรื่องการชะลอการปลูกหรือลดการปลูกได้ แต่หากปลูกยางยังไม่ถึง 25 ปีแล้วอยากโค่นรัฐบาลจะจัดงบกลางปีเป็นกรณีพิเศษ 1,500 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกษตรกรโค่นยางที่อายุต่ำกว่า 25 ปี คือตั้งแต่ 1-25 ปี
"เนื่องจากการผลิตยางในประเทศมี 4.5 ล้านตัน แต่ใช้ในประเทศเพียง 6 แสนตัน ดังนั้นที่เหลือต้องส่งออกอย่างเดียว เมื่อส่งออกอย่างเดียวทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้นำเข้ายางจากต่างประเทศ ถ้าเน่าเสีย มีปริมาณล้นเพราะทั่วโลกก็ปลูกยางกันก็อาจเกิดการกดราคาง่าย ทำให้เราคิดว่าจะต้องวางแผนปริมาณในระยะยาว ซึ่งเริ่มขับเคลื่อนทันที"นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับปัญหาที่ผ่านมา ทั้งๆที่นโยบายต่างๆก็ออกมาชัดเจน นายธนวรรธน์ ชี้แจงว่า นโยบายการโค่นยางเพิ่งออกมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งอนุมัติงบกลางปี ทำให้เพิ่งเกิดความชัดเจนที่จะทำให้เกษตรกรตัดสินใจ
ส่วนกรณีย้ายนายธีธัช สุขสะอาด ตนไม่ทราบที่มา เพราะมีการประชุมบอร์ด กยท.วันที่ 21 มี.ค.ตอนบ่าย และมีการทาบทามตนในช่วง 4 โมงเย็นวันนั้นจึงขอไม่ออกความเห็น