สศค.เผยดัชนี RSI เดือนมี.ค.61 ชี้แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจดีขึ้นทุกภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 97.4

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 29, 2018 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thai Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนมีนาคม 2561 ว่า การประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดล่าสุด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหลายภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและบริการ เป็นสำคัญ

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 97.4 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุนภายในภูมิภาค เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกทั้งมีนักลงทุนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในโรงงานเพิ่มขึ้นในจังหวัดปราจีนบุรีและสระแก้ว นอกจากนี้ พบว่า มีการลงทุนใหม่ในจังหวัดนครนายก โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ทในพื้นที่ ตามปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง ปรับตัวอยู่ที่ 91.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของการส่งออก อีกทั้งผู้ประกอบการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการปรับแผนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ประกอบกับภาคบริการ โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มสดใส เนื่องจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีจัดกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมตลอดปี อีกทั้งพบว่าในขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในพื้นที่ หลังจากกระแสตามรอยละครเรื่องบุพเพสันนิวาสกำลังมาแรง ส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มภาคบริการของภูมิภาค ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 97.7

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 80.1 เนื่องจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงงานในหลายจังหวัด เช่น อุบลราชธานี บุรีรัมย์ เป็นต้น ประกอบกับยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ นอกจากนี้ ดัชนีแนวโน้มของภาคบริการปรับตัวดีขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง อีกทั้ง สาขาค้าปลีกค้าส่ง ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ 78.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มที่ดีของภาคบริการ โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยว ที่จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัดราชบุรีและเพชรบุรี อีกทั้งค้าส่งค้าปลีกที่มีแนวโน้มสดใส จากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตลอดจนมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการ ประกอบกับแนวโน้มที่ดีในภาคการลงทุน เนื่องจากมีการลงทุนใหม่ในการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดราชบุรี รวมถึงเริ่มเปิดประมูลสรรหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดกาญจนบุรี

เช่นเดียวกับภาคการผลิตของภาคเหนือ ที่มีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม พบว่า มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นหลายจังหวัด เช่น อุตสาหกรรมดินขาวในจังหวัดลำปาง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในจังหวัดเพชรบูรณ์ อีกทั้ง นโยบายภาครัฐเริ่มส่งผลชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดตาก รวมถึงแนวโน้มภาคเกษตร ยังคงส่งสัญญาณที่ดี ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 82.6 ตามสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก และนโยบายการส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของภาครัฐ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจเหนือ ปรับตัวมาอยู่ที่ 75.7

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ อยู่ที่ 72.0 จากดัชนีแนวโน้มในภาคบริการ ส่งสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง อยู่ที่ 82.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการท่องเที่ยว เป็นสำคัญ เนื่องจากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวภายในจังหวัด เช่น พังงา ระนอง เป็นต้น ประกอบกับแนวโน้มการจ้างงานภายในภูมิภาค ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ตามการขยายตัวของภาคบริการเป็นหลัก นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑล อยู่ที่ 69.3 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ตามดัชนีแนวโน้มในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 82.8 อีกทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ