นายศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ นั้น แม้จะประกาศใช้หลากหลายมาตรการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคู่ค้าและประเภทสินค้าต่างกันออกไป แต่จากขั้นตอนการปฏิบัติที่ค่อนข้างยืดหยุ่น จึงน่าจะส่งผลกระทบโดยรวมอยู่ในขอบเขตจำกัด และนำไปสู่การเจรจาเงื่อนไขทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และคู่ค้ารายประเทศ โดยเชื่อว่าจะไม่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกรวมถึงไทย โดยสินค้าส่งออกไทยที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบเฉพาะหน้า หลักๆ ยังคงเป็นสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน เช่น อุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์, ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยยังมีความเสี่ยงจากการติดในรายชื่อการรายงานประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งมีนัยถึงข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของทางการ อันอาจส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในจังหวะที่รวดเร็วและผันผวน รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะออกมาตรการกีดกันสินค้าไทยโดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป "ตอนนี้ ไทยเข้าเงื่อนไข 2 ข้อ ที่สหรัฐเตรียมจะประกาศช่วงเดือน เม.ย. ในรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าที่มีการบิดเบือนค่าเงิน คือ เกินดุลการค้ากับสหรัฐสูงกว่าปีละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ของจีดีพี ซึ่ง 2 ข้อนี้ทำให้ไทยถูกสหรัฐฯ จับตา เพราะจะมีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่ต้องระมัดระวังมากขึ้น และอาจส่งผลกดดันให้เงินบาทมีโอกาสจะแข็งค่าขึ้นได้อีก"นายศิวัสน์ กล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 61 ไว้ที่ 4.0% โดยมองว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภายนอกและภายในเริ่มมีความสมดุลกันมากขึ้น ทั้งนี้แรงหนุนหลักยังมาจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน แต่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางด้านการค้าโลก การส่งออกไทยยังสามารถขยายตัวได้เป็นบวกจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพการค้าโลกที่แข็งแกร่งในปีนี้ เชื่อว่าจะทำให้การส่งออกของไทยสามารถเติบโตได้มากกว่า 4.5%