นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐสภาสหรัฐได้ผ่านร่างกฎหมายการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences:GSP) จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามเห็นชอบร่างกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2561 และย้อนหลัง (Retroactive) ตั้งแต่วันที่โครงการฯ ปัจจุบันหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 พร้อมเพิ่มเติมเกณฑ์การพิจารณาและเลื่อนระยะเวลาการระงับสิทธิฯ รายการสินค้าที่เข้าข่ายเกินเพดานการนำเข้าสหรัฐฯ (Competitive Need Limitations: CNL)
สาระสำคัญของการต่ออายุโครงการฯ ในครั้งนี้จะมีการเพิ่มเติมเกณฑ์การพิจารณารายการสินค้าที่จะขอผ่อนผันให้สหรัฐคงสิทธิฯ กรณีเข้าข่ายมีการนำเข้าสหรัฐเกินเพดานที่กำหนด (CNL Waiver) โดยกำหนดว่าหากสินค้ามีการนำเข้าสหรัฐฯ เกินเพดาน CNL แต่ไม่มีการผลิตในสหรัฐ ติดต่อกันเป็นระยะ 3 ปี นับจากปีที่พิจารณาทบทวนสินค้าดังกล่าวจะได้รับการผ่อนผันให้สามารถใช้สิทธิฯ ได้ต่อไป
นอกจากนี้ สหรัฐยังได้เลื่อนกำหนดเวลาตัดสิทธิฯ สินค้าที่ถูกระงับสิทธิกรณีนำเข้าสหรัฐเกินเพดาน CNL ในการพิจารณาทบทวนโครงการฯ ประจำปี (Annual Review) จากเดิมวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน ของปีถัดไป ซึ่งการยืดเวลาตัด/ระงับสิทธิฯ ดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการวางแผนการส่งออก-นำเข้าได้มากขึ้น
ทั้งนี้ สหรัฐกำหนดเพดานการนำเข้า (CNL) ไว้เบื้องต้น ดังนี้ (1) มูลค่าการนำเข้าในปี 2561 กำหนดที่ 185 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ (2) มีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าในสหรัฐฯ ตั้งแต่ร้อยละ 50
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันสหรัฐให้สิทธิพิเศษฯ GSP สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมกว่า 3,400 รายการ โดยสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐ (เหลือร้อยละ 0) ซึ่งจากสถิติการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐ พบว่ามีการขอใช้สิทธิฯ ในบัญชีรายการที่ได้รับสิทธิฯ เพียง 1,385 รายการ โดยในปี 2560 สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐขอใช้สิทธิพิเศษฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ กลุ่มสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษฯ สูง ได้แก่ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้า ยานยนต์/อุปกรณ์ ยางและผลิตภัณฑ์ พลาสติก อาหารปรุงแต่ง และเครื่องดื่ม เป็นต้น โดยกลุ่มสินค้าเหล่านี้มีอัตราภาษีนำเข้าปกติระหว่างร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 10
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสถิติภาพรวมของสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐในรายการสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูง 20 รายการแรกของปี 2560 พบมีสินค้า 14 รายการ ภาษีนำเข้าปกติเป็นศูนย์ จึงไม่จูงใจให้ใช้สิทธิ GSP เช่น หน่วยเก็บเครื่องประมวลข้อมูลอัตโนมัติ เครื่องส่งสัญญาณเครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องพิมพ์ กล้องถ่ายโทรทัศน์ เป็นต้น ในขณะที่รายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงบางรายการเป็นสินค้าที่ไทยถูกระงับสิทธิ GSP แต่ยังสามารถแข่งขันได้ในตลาดสหรัฐ ได้แก่ ยางรถยนต์นั่ง ยางรถบรรทุก เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง มอนิเตอร์และเครื่องฉาย เป็นต้น
หลังจากโครงการ GSP ได้รับการต่ออายุแล้ว ผู้นำเข้าสหรัฐที่ขอสงวนการใช้สิทธิพิเศษดังกล่าวและจ่ายภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (MFN) ตั้งแต่วันที่โครงการ GSP เดิมหมดอายุ คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 สามารถยื่นขอคืนภาษีอากรขาเข้าย้อนหลังได้ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ดังนั้นจึงขอให้ผู้ส่งออกไทยประสานแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้ลูกค้าปลายทางที่สหรัฐทราบและขอให้สิทธิฯ ต่อไปด้วย เพื่อให้สินค้าไทยที่ได้รับสิทธิ GSP มีต้นทุนลดลงและมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น