กกพ.เตรียมทบทวนอัตราส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้ารองรับเทคโนโลยี-การใช้ที่เปลี่ยนแปลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 29, 2018 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางปัจฉิมา ธนสันติ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมศึกษาปรับอัตราส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า เนื่องจากใช้มาตั้งแต่ปี 54 ขณะที่เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา ประกอบกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติก็จะมีบทบาทมากขึ้น โดยที่ผ่านมาทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แสดงความสนใจที่จะศึกษาอัตราดังกล่าว ซึ่งทาง กกพ. ก็จะหารือร่วมกันเพื่อศึกษาอัตราดังกล่าวต่อไป

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ ดังนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ 2 สตางค์ต่อหน่วย ,โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 สตางค์ต่อหน่วย ,โรงไฟฟ้าน้ำมันดีเซล น้ำมันเตา 1.50 สตางค์ต่อหน่วย ,โรงไฟฟ้าก๊าซฯ โซลาร์เซลล์ และชีวมวล 1 สตางค์ต่อหน่วย

สำหรับการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อดำเนินกิจการตามมาตรา 97(5) ในปีงบประมาณ 2561 กกพ. เตรียมจะเปิดให้ผู้สนใจยื่นขอรับการจัดสรรในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 61 โดยมีกรอบวงเงินจัดสรรอยู่ที่ประมาณ 440 ล้านบาท จำนวน 4 แผนงานประกอบด้วย งานเสริมสร้างศักยภาพ ส่งเสริมบทบาท และพัฒนาความรู้ด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชนที่เกี่ยวข้อง ,งานประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความตระหนัก ปลูกจิตสำนึก สร้างความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีด้านไฟฟ้า , งานส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า เช่น พัฒนาเครือข่าย หรือการสร้างเครือข่าย การมีส่วนร่วมของประชาชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านไฟฟ้า และงานสนับสนุนสร้างความมั่นคง และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ไม่ปกติด้านไฟฟ้า

ทั้งนี้ โครงการที่ยื่นขอรับการจัดสรรเงินกองทุน ฯ ต้องเป็นโครงการที่มีระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 1 ปี และเป็นโครงการภายใต้แนวคิด "พลังงานไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Electricity)" สำหรับผู้มีสิทธิยื่นขอรับการจัดสรรเงินกองทุนฯ จะต้องมีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งผู้แทนนิติบุคคลจะต้องมีสัญชาติไทย ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และหน่วยงานด้านสื่อสารมวลชน

ส่วนในปีงบประมาณ 2560 เป็นปีแรกของการเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) มีกรอบวงเงิน 210 ล้านบาท มีผู้ยื่นขอรับการจัดสรรเงินกองทุนฯ จำนวน 58 โครงการ และได้รับการอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนฯ จำนวน 15 โครงการ งบประมาณรวม 88.95 ล้านบาท เพื่อการเสริมสร้างความรู้เกียวกับไฟฟ้าให้แก่ประชาชนทั่วไป เสริมสร้างศักยภาพในการรับข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานด้านไฟฟ้า พัฒนาหลักสูตรการอบรมให้ความรู้ด้านการผลิต และใช้พลังงานไฟฟ้า การศึกษาวิจัยในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องทางด้านไฟฟ้า โดยครอบคลุมพื้นที่การดำเนินงานใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ และเพื่อการประชาสัมพันธ์ สร้างการมีส่วนร่วม ปลูกฝังทัศนคติที่ดีทางด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยจะดำเนินการภายใต้แนวคิด "ประชาร่วมใจ พลังงานไทยยั่งยืน (Sustainable Electricity)" ครอบคลุมการประชาสัมพันธ์ในหลากหลายช่องทาง เช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อดิจิทัล กิจกรรมการประกวด และศูนย์การเรียนรู้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ