นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดประชุมคณะทำงานเพื่อติดตามการปฏิบัติด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งมีมติให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดประชุมหารือร่วมกันระหว่างคณะผู้แทนอาเซียนที่ดูแลด้านกฎระเบียบกับคณะทำงานที่ดูแลด้านเทคนิคของอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่เริ่มใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ระหว่างวันที่ 29-30 มีนาคม 2561 เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้สิทธิฯ ที่อาจเกิดความไม่เสถียรของระบบการรับ-ส่ง e-Form D เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังอาเซียน 4 ประเทศที่เป็นประเทศนำร่องในการใช้ e-Form D
ทั้งนี้ หลังจากที่กรมฯ ได้นำระบบ e-Form D มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกที่ต้องการส่งออกไปอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการส่งออก เพราะไม่ต้องขอเอกสารการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบกระดาษ แต่จากการประเมินผลการใช้งานในเบื้องต้นของคณะอนุกรรมการความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (SC-AROO) ครั้งที่ 26 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่ามีประเด็นทางเทคนิคที่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมโครงการ e-Form D แจ้งว่าศุลกากรประเทศผู้นำเข้าประสบปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากตรวจพบข้อมูลที่แตกต่างกันระหว่าง e-Form D กับ Form D แบบกระดาษ และอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิประโยชน์ที่ประเทศปลายทาง จึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออก
"กรมฯ มั่นใจว่าหลังจากการหารือในระดับคณะทำงานครั้งนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้การใช้ e-Form D ในการส่งออกสินค้าไปยังอาเซียน 4 ประเทศ ทำได้รวดเร็วขึ้น และช่วยประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ส่งออกของไทย" นายอดุลย์กล่าว
พร้อมระบุว่า กรมฯ ยังมีแผนที่จะผลักดันให้สมาชิกอาเซียนที่เหลือใช้ระบบ e-Form D ในการส่งออกระหว่างกัน เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกระหว่างอาเซียนได้จริง และยังจะดำเนินการปรับปรุงระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-CO) ไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากอาเซียนด้วย
โดยเบื้องต้นจะทำกับจีน ซึ่งล่าสุดทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบแนวทางในการใช้ e-CO ระหว่างกันแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เพื่อหารือประเด็นด้านเทคนิคและกฎหมายในการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูล e-Form E กับประเทศจีนต่อไป
"หนังสือรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-CO จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมสภาพคล่องให้การค้าระหว่างประเทศ ประหยัดเวลา และต้นทุนในการออกหนังสือรับรอง ช่วยลดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย (Ease of doing business) และยังจะช่วยลดขั้นตอนการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกไทยในอนาคตอย่างแน่นอน" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าว
ในปี 2560 การส่งออกสินค้าที่มีการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) มีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2559 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 71% ของมูลค่าส่งออกรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ สำหรับการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีการขอใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA สูง 3 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน (23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) จีน (14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) และอินเดีย (3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ)