ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.61 ว่า เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี สอดคล้องกับการขยายตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ ด้านอุปสงค์ในประเทศขยายตัวทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน
"ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ.61ยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องจากแรงขับเคลื่อนหลักคือภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศแม้จะมีการเติบโต แต่ก็ยังไม่ได้เป็นแรงส่งหลักต่อเศรษฐกิจเท่ากับอุปสงค์ด้านต่างประเทศ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐมีการขยายตัวได้ดีจากทั้งในส่วนของรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ซึ่งหากสามารถรักษาการเบิกจ่ายของภาครัฐไว้ในระดับเช่นนี้ ก็เชื่อว่าจะส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้"นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนที่ ธปท.ประเมินว่าจะเติบโตได้ 3.3% ในปีนี้นั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก แต่ก็ยังมีโอกาสจะเติบโตได้มากกว่าที่คาดไว้ เพราะทิศทางการค้าของโลกยังมีแนวโน้มที่ดี เอื้อต่อการส่งออกสินค้าและบริการที่จะส่งผลดีมาถึงกำลังซื้อของประชาชน ประกอบกับเม็ดเงินจากงบกลางปีจำนวน 1.5 แสนล้านบาท ที่จะเริ่มลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นในงบสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรืองบสำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.61 เป็นต้นไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนปรับสูงขึ้นกว่าที่คาดไว้ได้
"ถ้าครึ่งปีหลังการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนโตดีกว่าที่คาดก็ปิดประตูที่ 4% สบายๆ...เรามองว่าการบริโภคภาคเอกชนที่ 3.3% มันก็ยังต่ำ เราอยากเห็น 3.4-3.5% ซึ่งหากตัวนี้ดีขึ้น 0.1-0.2% ก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจ เพราะการบริโภคภาคเอกชน มีสัดส่วนถึง 50% ของจีดีพี หากตัวนี้ขยับก็มีโอกาสที่จะทำให้จีดีพี เพิ่มขึ้นได้อีก 0.1%" นายดอน ระบุ
แต่อย่างไรก็ดี หากในช่วงครึ่งปีหลังทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนสามารถเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ที่ 3.3% ก็เชื่อว่าจะได้เห็นเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตได้เกินกว่า 4% อย่างแน่นอน
นายดอน กล่าวด้วยว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านต่างประเทศมากกว่าปัจจัยภายในประเทศ โดยปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามเป็นเรื่องของกำลังซื้อที่ยังไม่กระจายตัว ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศในเรื่องสงครามการค้านั้นเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม แม้จะเชื่อว่ามีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้นก็ตาม เนื่องจากยังไม่ใช่สงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบ เพราะยังเป็นเพียงการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเท่านั้น
"ความเสี่ยงด้านต่างประเทศมีน้ำหนักมากกว่า ซึ่งในประเทศเราค่อนข้างจะสบายใจ เพราะเห็นทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง แนวโน้มกำลังซื้อของประชาชนน่าจะดีขึ้นได้ จากอานิสงค์ของงบกลางปี ที่ target อยู่ที่ผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งการกระจายตัวของกำลังซื้อ น่าจะเห็นทิศทางที่ดีขึ้นได้" นายดอนระบุ
อย่างไรก็ดี สำหรับกำลังซื้อในภาคเกษตรที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวโดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมัน แต่เชื่อว่าทั้งปีนี้น่าจะเริ่มเห็นราคาสินค้าเกษตรที่กลับมาเป็นบวกได้
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ.61 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าตามราคาพลังงานและราคาอาหารสดที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ และผักผลไม้ อย่างไรก็ดี จากที่ กนง.ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ลงเหลือ 0.7% จากการประเมินในช่วงเดือน ธ.ค.60 ที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.8% นั้น เป็นผลมาจากราคาสินค้าอาหารสดปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดไว้
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวน อย่างไรก็ดี เงินบาทยังอ่อนค่าลงน้อยกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค เนื่องจากไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูง ตามภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง