นายกฯชวนคนไทยพัฒนาสนามวิ่งระดับโลก เชื่อมโยงการท่องเที่ยวดึงรายได้เข้าสู่ท้องถิ่น สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday March 31, 2018 09:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ"ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า สัปดาห์แล้วที่ผมกล่าวถึงเรื่องคุณอำนาจ พรหมภินันท์ นักวิ่งทางดิ่ง วัย 66 ปี เป็นนักวิ่งหนึ่งเดียวจากประเทศไทย ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมรายการ "วิ่งขึ้นหอไอเฟล" ซึ่งมีความเป็นมายาวนานนับ 100 ปี ผมอยากชวนทุกฝ่ายช่วยกัน "คิดต่อยอด" ให้มองภาพที่ใหญ่ขึ้น คำถามคือทำอย่างไรให้ "การวิ่ง" นั้นสร้างเศรษฐกิจ สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ และดึงรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และอื่น ๆ ไม่ใช่แค่การจัดงานวิ่งแล้วจบไป เหมือนงาน event หนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่จะเป็นอีก"อุตสาหกรรมใหม่" ของเรา รวมทั้ง "อุตสาหกรรมภาพยนตร์" ก็เหมือนกัน ที่สามารถจะสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือต่อยอดจาก "การท่องเที่ยว" ได้หลายเท่าตัว

ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "งานวิ่งมาราธอน" ที่จัดในเมืองใหญ่ทั่วโลก และได้รับการยอมรับมากที่สุด ที่เรียกว่าระดับ Majors มี 6 สนาม ได้แก่ Boston จัดมา 121 ปี รองลงมา New York City 48 ปี Berlin 44 ปี Chicago 41 ปี London 37 ปี และTokyo 36 ปี ยังมีสนามอื่น ๆ อีกมากมายที่จัดขึ้นทั่วโลก งานเหล่านี้จะมีนักวิ่งจากทั่วโลกเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 35,000 คน สนามใหญ่ ๆ อย่าง New York City Marathon มีคนวิ่งจบ 50,000 กว่าคน มากกว่าโอลิมปิกที่มีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน ราว 11,000 คน เท่านั้น ตัวอย่างของผลพลอยได้ที่จะตามมาคือ เม็ดเงินมหาศาลจะไหลเข้าสู่ประเทศ โดยเฉพาะท้องถิ่นที่เป็นเจ้าภาพเพราะนักวิ่งจากทั่วโลกเหล่านี้เดินทางมาพร้อมกับครอบครัว วิ่งด้วย – เที่ยวด้วย จับจ่ายใช้สอย ที่พัก อาหาร ของฝาก การจัดงาน "ระดับประเทศ" ถ้าหากได้รับความนิยมก็ถูกยกเป็น "ระดับโลก" ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เคยมีการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการจัด "ชิคาโก มาราธอน" ในปี 2016 เฉพาะในเมืองชิคาโก ก็สูงถึง 9,000 ล้านบาท ส่วน "ลอนดอนมาราธอน" เมื่อปีที่แล้วสามารถหาเงินเข้าองค์กรการกุศลได้มากถึง 2,700 ล้านบาท แล้วก็ถือเป็นสถิติโลกด้วย

"เราลองมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ผมประหลาดใจอยู่เหมือนกันว่า ประเทศไทยเราก็จัดมีการจัดวิ่งมาราธอนไม่แพ้เขา จัดมานาน 30 กว่าปี พอ ๆ กับที่ลอนดอนและโตเกียว เท่าที่ทราบสนามแข่งขันมี 6 สนามที่เป็นสมาชิก AIMS (เอมส์) ซึ่งเป็นสมาคมที่รับรองว่าการวัดระยะในสนามแข่งขันมีความถูกต้อง ทำให้สถิติของนักวิ่งได้รับการรับรองและสามารถเอาไปใช้สมัครเพื่อแข่งขันในสนามระดับโลกได้ แต่เรายังไม่มีสนามใดเลยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก IAAF Label ซึ่งมีข้อกำหนดอีกมากที่ต้องปฏิบัติตาม เช่นต้องมีระบบการแพทย์ดูแลนักกีฬา หากมีคนล้มในสนามต้องสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว หากเรายกระดับการจัดเข้าสู่มาตรฐานดังกล่าวได้ จะสามารถดึงดูด"นักท่องเที่ยวเชิงกีฬา" ได้ในที่สุด

ผมเห็นหลายประเทศเขาดำเนินการในรูปแบบ "มูลนิธิ" โดยว่าจ้างบริษัทเอกชนมาช่วยจัดงาน และหน่วยงานของรัฐก็เข้าไปสนับสนุน อำนวยความสะดวก สรุปแล้วเป็นกลไกหนึ่งที่ "ประชารัฐ" ในแต่ละท้องถิ่นสามารถจะทำได้ ตามนโยบายรัฐบาลในปัจจุบัน ที่สามารถประสบความสำเร็จมาแล้วหลายกิจกรรม เช่น ประชารัฐ "พีพี โมเดล" ช่วยปฏิรูปการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว ทำให้สามารถจัดเก็บรายได้ที่ไม่เท่าไร แต่ปี 57 เก็บได้ 700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปี 60 เก็บได้ 2,400 ล้านบาท และปีนี้ คาดว่าจะถึง 3,000 ล้านบาท ขอให้รักษาระบบนิเวศน์ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ด้วย รายได้ที่ได้มาก็ไม่ได้ไปที่ไหน จะอยู่ที่ชุมชนที่เป็นเจ้าภาพ จากการมีส่วนร่วมของประชาชนและอาสาสมัคร

สำหรับเงินที่ได้จากการจำหน่ายตั๋ว จากผู้สนับสนุน ก็สามารถนำไปส่งเสริมนักวิ่ง กีฬาให้กับเยาวชนนะครับ ทำการกุศล เป็นกองทุน ได้อีกด้วย ขอให้ทุกคนช่วยกันคิด ให้เป็นระบบ ต้องทำตามมาตรฐานสากลให้ได้โดยเร็ว ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราสามารถจัดงานวิ่งมาราธอน ที่มีเส้นทางที่สวยงามน่าประทับใจไม่แพ้ที่ใดในโลก ทั้งเส้นทางวิ่งชมวัฒนธรรม ชุมชน วัดวาอาราม สถาปัตยกรรม สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือเส้นทางธรรมชาติ แม่น้ำ ลำคลอง ชายทะเล ภูเขา ป่าไม้ เรามีครบหมด นอกจากนั้นก็เส้นทางสายไหม เส้นทางผ้า เส้นทางอาหาร เส้นทางต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันได้ ในท้องถิ่น ในชุมชน เมืองหลัก เมืองรอง เราทำได้ทั้งหมด ผมอยากให้ทุกคนช่วยกันคิด และช่วยกันทำอย่างจริงจัง สร้างชื่อเสียง สร้างคุณค่า เอาไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานของเรา ใช้สปิริตของการกีฬา มาสร้างชาติ สร้างสังคมที่ดีขึ้นด้วยกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ