BAY คาดกรอบเงินบาทในสัปดาห์นี้ 31.10-31.30 จับตาตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 2, 2018 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.30 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.19 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ส่วนยอดรวมทั้งสัปดาห์ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 3.8 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 3.0 พันล้านบาท ขณะที่เงินดอลลาร์ฟื้นตัวเทียบสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ตามแรงซื้อดอลลาร์ช่วงสิ้นไตรมาส แต่ปริมาณธุรกรรมเบาบางลงก่อนวันหยุดยาวช่วงเทศกาลอีสเตอร์ในตลาดเงินหลักของโลกหลายแห่ง

ทั้งนี้ในไตรมาสแรกของปี 61 เงินบาทแข็งค่าราว 4.3% ส่วนดัชนีค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับตระกร้าสกุลเงินสำคัญลดลง 2.3%

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ รวมถึงสุนทรพจน์ของนายพาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในหัวข้อทิศทางเศรษฐกิจช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนคลายกังวลลงบ้างต่อสงครามการค้าโลก นอกจากนี้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังต่ำในยูโรโซน ซึ่งยังคงสวนทางกับทิศทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อาจจำกัดแรงขายดอลลาร์ก่อนการประกาศตัวเลขตลาดแรงงานและความเห็นของประธานเฟด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ หลัง กนง.มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยโดยมีกรรมการ 1 ราย เห็นควรให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.75% เนื่องจากเห็นว่าภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ภาคเอกชนประเมินความเสี่ยงด้านเสถียรภาพต่ำเกินจริง ขณะที่การลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงบ้างจะไม่ฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่าการลงมติคงดอกเบี้ยด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์มีนัยสำคัญในบริบทของการส่งสัญญาณปรับสมดุลนโยบายในระยะถัดไป

อย่างไรก็ดี กนง.ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้เป็น 1.0% จาก 1.1% แม้จะยังคงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1-4% ได้ในไตรมาส 2/61 อนึ่ง ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคมอยู่ที่ 0.79% โดยในไตรมาสแรกยังคงทรงตัวในระดับต่ำที่ 0.64% ซึ่งสะท้อนว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสัญญาณสนับสนุนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนควบคู่กันไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ