นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้แจงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมว่า สำนักงานฯ อยู่ระหว่างทำรายละเอียดมาตรการให้ความข่วยเหลือเพื่อกลับไปร่วมประชุมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสงสัยที่เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการพ่วงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมนาคมเข้ากับการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งความจริงแล้ว ผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้ยื่นเรื่องมาถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และอยู่ระหว่างการพิจารณา
อย่างไรก็ดี กสทช.คำนึงว่าทั้งอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคมมีความสำคัญและจำเป็นพอๆ กัน
"หลายฝ่ายสงสัยว่ามาตรการช่วยทีวีดิจิทัล เหตุใดไม่รอให้ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์คดีของบริษัทไทยทีวีก่อน ขอให้ทำความเข้าใจว่าผลของคดีในชั้นอุทธรณ์นั้น ไม่เกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือ เมื่อเอกชนยื่นขอความช่วยเหลือมา ก็ต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรม ดังนั้นอย่าว่ามาตรการครั้งนี้เป็นการช่วยทีวีพ่วงโทรคมนาคมเลย เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นจริงๆ ต้องเรียกว่าช่วยโทรคมนาคมพ่วงทีวีถึงจะถูก" นายฐากร กล่าว
กรณีการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม เหตุผลที่ผู้ประกอบการขอให้รัฐช่วยเหลือ เนื่องจากมีภาระเงินกู้เพื่อนำมาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยหากไม่ขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผู้ประกอบการจะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 และ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ เนื่องจากมีภาระเงินกู้ประมาณ 120,000 ล้านบาท (ทรู 60,218 ล้านบาท AWN 59,000 ล้านบาท) วงเงินกู้เต็มกรอบวงเงิน
นายฐากร กล่าวว่า คณะทำงานของกสทช. เชื่อว่า หากกสทช.เปิดประมูลคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์ ในปีนี้ ทั้งบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิวเคชั่น จำกัดซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ จำกัด (AWN)บริษัทย่อย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) รวมทั้งบริษัท ดีแทค ไตรเนต เน็ตเวิร์ก (DTN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จะเข้าร่วมประมูลด้วยจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
กสทช.ประเมินว่า หากประมูลได้ทั้ง 3 ใบอนุญาต รัฐจะได้เงิน 120,477.72 ล้านบาท ถ้าประมูล 2 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 80,318.48 ล้านบาท ประมูล 1 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 40,159.24 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรณีไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ และคสช.ไม่ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ จะมีรายได้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน จะมียอดเงิน 166,991.16 ล้านบาทในปี 63
แต่หาก คสช.ให้ขยายเวลาชำระค่างวดใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ออกไปโดยคิดอัตราดอกเบยี้ย 1.5% ต่อปีไปจนถึงปี 67 และมีการจัดประมูลคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์ ได้ 3 ใบอนุญาต รัฐจะมีรายได้ 291,314.20 ล้านบาท แต่หากประมูล 2 ใบอนุญาต รัฐจะมีรายได้ 251,154.96 ล้านบาท
ส่วนข้อเป็นห่วงว่าในกรณีจะเกิดการฟ้องร้องในภายหลังนั้น สำนักงานฯ ประเมินว่า การฟ้องร้องไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากบริษัทที่เคยชนะประมูลแต่ทิ้งใบอนุญาต คือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ขาดสิทธิในการฟ้องร้อง ทั้งนี้ ดีแทคจะได้รับสิทธิในเงื่อนไขการชำระค่าประมูลที่ กสทช.กำหนดไว้ในการประมูลครั้งต่อไป ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเท่าเทียม
อีกทั้งผู้บริหารของดีแทคยืนยันผ่านสื่อว่า การประมูลครั้งที่ผ่านมาสูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6 เท่าตัว ดังนั้น การขยายระยะเวลาการชำระเงินให้กับผู้ชนะประมูลทางดีแทคไม่ขัดข้อง แต่ให้นำเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไปใส่ในการประมูลคลื่น 1800 หรือ 900 เมกกะเฮิรตซ์ในครั้งต่อไป และหากนำคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์มาประมูลจะทำให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอีก 90 เมกกะเฮิรตซ์เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G, Internet of Things จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวดเร็วยิ่งขึ้น