นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ยกเลิกสัญญากับบริษัทเอกชนกรณีเครื่องเก็บค่าโดยสาร (Cash box) บนรถโดยสารประจำทางที่ติดตั้งไปแล้ว 100 คัน หลังพบว่าระบบไม่เสถียรว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างดำเนินการ แม้ปัจจุบันเครื่องดังกล่าวจะดำเนินการไม่สำเร็จตามแผน แต่ก็จะไม่ส่งผลกระทบกับสวัสดิการของผู้ถือบัตรผู้มีรายได้น้อยอย่างแน่นอน เพราะโดยหลักการแล้วเพียงแค่ผู้มีรายได้น้อยแสดงบัตรสวัสดิการ ขสมก. ก็จะไม่เก็บค่าบริการอยู่แล้ว และจะมีการบันทึกรายละเอียดเข้าระบบเพื่อรวบรวมข้อมูลการมาใช้สิทธิของผู้มีรายได้น้อย ก่อนนำไปเบิกกับผู้ให้สัญญาที่ทำไม่สำเร็จ ซึ่งพบว่างบประมาณที่ต้องใช้ในส่วนนี้ตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังถือว่าน้อยมาก
"ยืนยันว่า การดำเนินการของ ขสมก.ในส่วนนี้ จะไม่กระทบกับผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการอย่างแน่นอน" นายอภิศักดิ์ กล่าว
สำหรับโครงการอบรมเพื่อพัฒนาอาชีพในการเสริมรายได้ให้มั่นคงของผู้ถือบัตรสวัสดิการ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีนั้น รัฐบาลจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายทุกคน เพื่อให้มาฝึกอาชีพเพิ่มรายได้
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผู้มีรายได้น้อยที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านการซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าวันแรกของเดือน เม.ย. อยู่ที่ 2.1 ล้านรายการ คิดเป็นเงิน 768 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุด เนื่องจากประชาชนเริ่มเข้าใจการใช้บัตรเพิ่มมากขึ้น และมีเงินเพิ่มจากมาตรการเฟส 2 ผู้ที่มาลงทะเบียนฝึกอาชีพเพิ่มรายได้จะได้เงินเพิ่มอีกเดือนละ 100-200 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้เริ่มเข้าเป็นเดือนแรกในเดือน เม.ย. นี้
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ทำการจัดประชุมผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ( AO) จากปัจจุบันที่มี 7 พันคน แต่ได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย โดยให้นายอำเภอแต่งตั้งได้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านมาเป็น AO เพิ่มขึ้นเป็น 1.8 แสนคน โดยจะมีการชี้แจงให้ AO รู้ว่ามีหน้าที่สำคัญในการทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงการฝึกอาชีพ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และหลุดพ้นจากคนมีรายได้น้อยที่สุด โดยจะต้องติดตามความคืบหน้าของผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง
โดยขณะนี้มีตำแหน่งงานในประเทศว่างกว่า 1 แสนตำแหน่ง และในต่างประเทศอีก 7 พันกว่าตำแหน่ง มีแฟรนไชส์ที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการ 100-200 ตำแหน่ง ช่างชุมชน 7-8 หมื่นตำแหน่งในทุกหมู่บ้าน ซึ่ง AO สามารถแนะนำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงอาชีพดังกล่าวได้ทันที นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังมีสินเชื่อสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยได้ประกอบอาชีพ อัตราดอกเบี้ย 0% เพื่อเริ่มต้นประกอบอาชีพ
"เดือนเม.ย. นี้ จะเป็นเดือนแห่งการส่งผ่านผู้มีรายได้น้อยไปฝึกอาชีพหรือประกอบการอาชีพ ทาง AO จะต้องแนะนำผู้มีรายได้น้อยแต่ระรายให้ได้ว่าจะฝึกอาชีพ หรือประกอบอาชีพอะไร เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป และ AO ก็ต้องตามต่อว่าผู้มีรายได้น้อยได้ฝึกอาชีพ หรือประกอบอาชีพ หรือได้สินเชื่อ และมีรายได้เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะมีคนพ้นจากรายได้น้อย 20-30% ของผู้มาลงทะเบียน 11.4 ล้านคน" นายสมชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า หลังจากผู้มีรายได้น้อยประกอบอาชีพและมีรายได้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ทาง AO จะต้องให้คำแนะนำผู้มีรายได้น้อยออมเงินผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หากต้องการมีที่อยู่อาศัย ก็จะมีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เข้ามาช่วยตามฐานะ รวมถึงการทำประกันผู้มีรายได้น้อยค่ากรรมธรรม์ 100-200 บาท ในส่วนของผู้ไม่มาลงทะเบียนฝึกอาชีพ ทางกระทรวงการคลังได้ประสานงานในแต่ละจังหวัดแล้วให้ส่งรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์มาให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดำเนินการติดตามอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีผู้ที่ไม่มาลงทะเบียนฝึกอาชีพ 20-30% จากที่ลงทะเบียน แต่คาดว่าเมื่อทำความเข้าใจอีกครั้งจะทำให้มีคนเข้ามาฝึกอาชีพเพิ่มมากขึ้น