คลังเผยผลคืบหน้าการส่งเสริมธุรกิจ Startup ได้รับการอนุมัติร่วมลงทุนแล้ว 10 ราย มูลค่า 211 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 3, 2018 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานความคืบหน้าการดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee : NSC) ประจำเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งมีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. จำนวนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในประเทศไทย

1.1 จำนวน Startup ที่ลงทะเบียนกับ http://startupthailand.org ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จำนวน 713 ราย

1.2 จำนวนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ (SMEs/New Startup) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 637) พ.ศ. 2560 เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของ SMEs/New Startup เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี มี SMEs/New Startup เข้ามาจดทะเบียนและยื่นขอรับการรับรองกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แล้วจำนวน 148 ราย ได้รับการรับรองจาก สวทช. แล้วจำนวน 84 ราย และได้ขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกรมสรรพากรแล้วจำนวน 76 ราย

1.3 จำนวน Startup ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านการร่วมลงทุนกับธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติการร่วมลงทุนใน Startup แล้ว 35 ราย วงเงินรวม 768 ล้านบาท โดยมี Startup 10 ราย ที่ได้มีการร่วมลงทุนแล้ว คิดเป็นเงินร่วมลงทุน 211 ล้านบาท

2. จำนวนกลุ่มนักลงทุนในประเทศไทย

2.1 จำนวนกลุ่มนักลงทุนที่ลงทะเบียนกับ Web Portal ปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนเข้าลงทะเบียนบนเว็บไซต์ http://startupthailand.org แล้วจำนวน 69 ราย

2.2 กิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) และทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน (Private Equity Trust: PE Trust) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560 เพื่อขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผล และรายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทเป้าหมาย เป็นระยะเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี มีผู้จดแจ้งการเป็น VC และ PE Trust กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 30 ราย

3. ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในเดือนมีนาคม 2561

3.1 การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการการพัฒนาครูและบุคลากรในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาด้านมายเซ็ตการประกอบการ ครั้งที่ 1

คณะกรรมการฯ ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง และธนาคารออมสิน จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการการพัฒนาครูและบุคลากรในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาด้านมายเซ็ตการประกอบการ (การฝึกอบรมฯ) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 22 – 23 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ โดยการฝึกอบรมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และมายเซ็ตทางการประกอบการให้แก่ครูและเจ้าหน้าที่ในสถาบันการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา และนำไปสู่การถ่ายทอดความรู้และแรงบันดาลใจที่ได้รับไปยังนักเรียนที่เข้าร่วม Startup Club ต่อไป

การฝึกอบรมฯ ครั้งนี้ จัดโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมฯ ทั้งหมด 41 ท่าน เป็นครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Startup Club จำนวน 24 ท่าน จาก 12 สถาบัน และเจ้าหน้าที่จากคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด 17 ท่าน จาก 12 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ตาก ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และสุโขทัย ทั้งนี้ สำหรับการฝึกอบรมฯ ครั้งที่ 2 มีกำหนดการระหว่างวันที่ 2 - 3 เมษายน 2561 ณ จังหวัดอุดรธานี เพื่ออบรมครูในสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ Startup Club และเจ้าหน้าที่จากคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

3.2 การติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ณ จังหวัดภูเก็ต

ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ พร้อมกับ น.ส.บัณฑรโฉม แก้วสอาด ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชม Software Park Phuket และติดตามความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรมของ Startup Club ของโรงเรียนสตรีภูเก็ต พร้อมทั้งหารือปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ Startup ร่วมกับผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ต โดยจากการหารือพบว่านโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐได้ส่งผลให้เกิด Startup ที่ประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ยังมี Startup ที่ยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยขอให้ภาครัฐเน้นการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในการนี้ ปลัดกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดภูเก็ตเป็นหน่วยงานหลักในการประสานสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อดำเนินการสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ Startup โดยเร็วต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ