นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ เปิดเผยรายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ว่า มีจำนวน 6,463,676.84 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.34% ของ GDP โดยแบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 5,135,083.68 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 935,776.80 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 383,570.59 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 9,245.77 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 22,318.98 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. หนี้รัฐบาล จำนวน 5,135,083.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 13,699.51 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของหนี้รัฐบาล ดังนี้
- เงินกู้ภายใต้แผนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 และการบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นสุทธิ 20,899.53 ล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ จำนวน 23,548.53 ล้านบาท และการลดลงของตั๋วเงินคลัง 2,649 ล้านบาท
- เงินกู้เพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพิ่มขึ้นสุทธิ 4,566.78 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การกู้ให้กู้ต่อแก่ (1) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 640.19 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำนวน 411.47 ล้านบาท สายสีน้ำเงินจำนวน 194.28 ล้านบาท สายสีเขียวจำนวน 33.76 ล้านบาท และโครงการรถไฟสายสีม่วงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสะพานพระนั่งเกล้าฯ จำนวน 0.68 ล้านบาท (2) การรถไฟแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 5,010.38 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการการก่อสร้างทางคู่ ช่วงนครปฐม - ชุมพร จำนวน 2,751.70 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ จำนวน 1,685 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น จำนวน 494.68 ล้านบาท โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต จำนวน 70.87 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า - แก่งคอย จำนวน 8.13 ล้านบาท และ (3) การชำระคืนต้นเงินกู้ที่ให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจำนวน 1,083.79 ล้านบาท
- การกู้เงินบาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 400 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน
- การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 11,710.86 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
- หนี้ต่างประเทศลดลงสุทธิ 455.94 ล้านบาท เนื่องจากการเบิกจ่ายและชำระคืนเงินกู้สกุลเงินต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน
2. หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 935,776.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 12,091.05 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก
- หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน เพิ่มขึ้นสุทธิ 2,415.26 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ ที่เพิ่มขึ้นของการรถไฟแห่งประเทศไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
- หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน เพิ่มขึ้นสุทธิ 9,675.79 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่เพิ่มขึ้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
3. หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 383,570.59 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 3,085.66 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
4. หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 9,245.77 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 385.92 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เนื่องจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
ส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 6,463,676.84 ล้านบาท แบ่งออกเป็น หนี้ในประเทศ 6,188,010.60 ล้านบาท หรือ 95.74% และหนี้ต่างประเทศ 275,666.24 ล้านบาท (ประมาณ 8,557.16 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 4.26% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,763,983.17 ล้านบาท หรือ 89.17% และหนี้ระยะสั้น 699,693.67 ล้านบาท หรือ 10.83% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด