นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า จากการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 60 มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้งานอยู่จำนวนทั้งสิ้น 121.53 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น กลุ่มบริษัท AIS จำนวน 53.05 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 43.65% รองลงมาคือกลุ่มบริษัท TRUE จำนวน 36.05 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 29.66% และกลุ่มบริษัท DTAC จำนวน 30 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 24.69% ส่วนกลุ่ม CAT และกลุ่ม TOT มีจำนวน 0.11 ล้านเลขหมาย และ 2.32 ล้านเลขหมายตามลำดับ โดยคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 0.09% และ 1.91% ตามลำดับ
ในส่วนของข้อมูลปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (การใช้บริการดาต้า) ของโอเปอเรเตอร์หลัก 3 ราย (กลุ่มบริษัท AIS กลุ่มบริษัท TRUE และกลุ่มบริษัท DTAC) พบว่า เมื่อสิ้นปี 60 มีการใช้งานสูงถึง 3,294,325,000 กิกะไบต์ (หรือ 3 ล้านเทราไบต์โดยประมาณ) โดยเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 57 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 เท่าตัวภายใน 4 ปี ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตของการใช้งานที่สูงมาก คิดเป็นปริมาณการใช้งานดาต้าโดยเฉลี่ย 4.11 กิกะไบต์ ต่อคนต่อเดือน
"แสดงให้เห็นว่าในปี 60 ใน 1 วันแต่ละคนมีการใช้งานดาต้าเฉลี่ย 0.14 กิกะไบต์ หรือ 140 เมกะไบต์"เลขา กสทช. กล่าว
นายฐากร กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้คลื่นความถี่เพื่อการสื่อสารข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายหลังจากการประมูลคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ในปี 55 และ 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในปี 58-59 ที่ทำให้มีการให้บริการ 3G/4G อย่างแพร่หลายทั่วประเทศ ทำให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ มีการใช้งานโซเชียลมีเดียสูง เช่น มีผู้ใช้งาน Facebook กว่า 40 ล้านคน และมีผู้ใช้งาน Line กว่า 30 ล้านคน ในประเทศไทย เป็นต้น
นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการทำธุรกรรมออนไลน์ในระบบ Mobile Banking หรือ FinTech ทำให้เกิดระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Promptpay ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 39 ล้านคนในปัจจุบัน ทำให้การซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการสามารถทำได้ง่าย สะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถดำเนินการได้ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง