นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นต่อมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายในการสนับสนุนการช่วยเหลือเอกชน แต่ควรอยู่บนหลักการที่ทำให้เอกชนประกอบดำเนินธุรกิจและไม่กระทบกับความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยเอกชนต้องรับความจริงถึงการดำเนินธุรกิจและไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ซึ่งเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเข้าใจเรื่องประโยชน์สาธารณะเป็นอย่างดี
ขณะที่ กสทช.ยังจับประเด็นเรื่องประโยชน์สาธารณะไม่ถูกต้อง ยังมีการนำเสนอข้อมูลและเหตุผลที่ไม่สมเหตุผลในการอุ้มผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 2 รายด้วยการให้ผ่อนชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 4 แนวทางของ กสทช.จึงไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพราะเอกชนทั้ง AWN และทรูมูฟมีผลประกอบการที่ดี มีกำไรในการดำเนินธุรกิจ กรณีทรูมูฟมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 18.8% เป็น 26% ในปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ยังได้มีรายงานกรณีรัฐบาลไม่ให้บริษัทโทรคมนาคมขยายระยะเวลาชำระเงิน โดยเห็นว่าฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการทั้ง 2 รายยังแข็งแกร่งไม่มีปัญหาอะไร
"สำหรับประเด็นความเชื่อมั่นของนักลงทุน สิ่งที่นักลงทุนกลัวคือความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐในเรื่องต่างๆ ดังนั้นหากรัฐบาลมีการออกกฎระเบียบอะไรแล้วมาเปลี่ยนภายหลัง ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ การขยายระยะเวลาการชำระเงินงวดที่ 4 ออกไป เป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขในการประมูลใบอนุญาตที่ผู้เข้าประมูลทุกรายได้เคยเห็นชอบไว้แล้ว จะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน และทำลายความเชื่อมั่นของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยโดยมองว่าเป็นประเทศสารขัณฑ์เคยออกกฎระเบียบไว้แล้วอยู่ดีๆ จะมาเปลี่ยนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บางรายก็ทำได้โดยไม่มีข้อจำกัด ที่สำคัญจะกระทบกับกสทช.ในฐานะผู้กำกับดูแลด้วย" นายสมเกียรติ กล่าว
พร้อมมองว่า การทำธุรกิจย่อมมีความเสี่ยงเป็นเรื่องปกติ เมื่อธุรกิจมีปัญหาไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะต้องเข้าไปอุ้มทุกราย กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 2 รายไม่ได้มีปัญหา ทั้ง 2 บริษัทรู้เงื่อนไขในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เมื่อประมูลคลื่นได้ ก็มีการเฉลิมฉลอง ทุกคนรู้ดีว่ามีความเสี่ยงทางธุรกิจอยู่ตลอดและยอมรับในความเสี่ยงนั้น สิ่งที่ กสทช.เสนอต่อรัฐบาลจึงไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
สิ่งที่ กสทช.ยื่นข้อเสนอให้ช่วยผู้ประกอบการ เป็นการยกประโยชน์ของรัฐและประชาชนไปให้กับเอกชน หากตีมูลค่าก็เท่ากับดอกเบี้ยที่ผ่อนชำระจาก 15% มาคิดที่ 1.5% ส่วนต่างตรงนี้ถ้าคิดเป็นเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เอกชนสามารถระดมทุนด้วยการกู้เงิน ออกตราสารหนี้ ออกหุ้นเพิ่มทุนได้ โดยน่าจะมีต้นทุนประมาณ 9% (ทรูอาจจะสูงกว่า) กสทช.บอกว่าถ้าคิดอัตราดอกเบี้ย 1.5% รัฐจะได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยนั้นไม่เป็นความจริง อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง 1.5% เป็นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีไว้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ การเอาอัตราดอกเบี้ยนี้มาใช้ จึงเป็นการเหมาโดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีหลักแหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น อัตราดอกเบี้ย 1.5% เป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุน เวลารัฐบาลต้องไปกู้เงินเพื่อทำโครงการ ดังนั้นการที่บอกว่ารัฐจะได้ประโยชน์จึงไม่จริง
ส่วนประเด็นว่าหากให้เอกชนขยายเวลาชำระเงินจะทำให้มีผู้มาประมูลคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์ จะทำให้มีเอกชนมาประมูลคลื่นมากขึ้นนั้น นายสมเกียรติ มองว่า สิ่งที่ กสทช.กล่าวอ้างเป็นการมโน อยู่ๆ ก็คิดไปเอง โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน ถ้าจะมีก็คงเป็นการไปเจรจากับบางรายมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควร การจะจัดประมูลให้คนสนใจ ควรจัดการประมูลให้ดี มีความเป็นธรรมในการแข่งขัน เอกชนก็จะมาเอง ไม่ใช่ไปแอบชวนใครมา
"เชื่อว่าการประมูลคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์ น่าจะไม่มีการแข่งขันเท่ากับการประมูลคลื่นครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการทั้ง 2 รายมีคลื่นอยู่ในมือมากพอควรแล้ว เป็นธรรมชาติของหลักเศรษฐศาสตร์ที่จะไม่เข้ามาประมูลมาก สิ่งที่จะทำให้เกิดการแข่งขันควรเปิดเสรีตลาดให้มีคนเข้ามาแข่งขัน หรือลดราคาคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์ให้เหมาะสม การตั้งราคาประมูลควรตั้งราคาปกติ" นายสมเกียรติกล่าว
ทั้งนี้ สรุปได้ว่า รัฐบาลและ คสช.ไม่มีเหตุผลที่จะช่วยให้เอกชนผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เพราะไม่มีประโยชน์อะไร แต่กลับเป็นการโอนประโยชน์ของรัฐและประชาชนไปสู่ผู้ประกอบการ เป็นการทำลายความเชื่อมั่นในการลงทุน ฝากหลักคิดในการกำกับดูแลให้เกิดความเชื่อมั่นไปถึง กสทช.ว่า การกำกับดูแลต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ประโยชน์ผู้ประกอบการ, การกำหนดนโยบายกำกับดูแลต้องใช้ข้อมูลและหลักวิชาไม่ใช่การคาดเดาหรือมโน, กติกาต้องเหมาะสมเป็นธรรม ไม่ใช่กติกาที่ถูกล็อบบี้จากผู้ประกอบการบางรายแล้วเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม, เมื่อกำหนดกติกาแล้ว ต้องรักษาความน่าเชื่อถือโดยการทำตามกติกาไม่ใช่มาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และต้องรับผิดชอบและพร้อมให้ตรวจสอบผลการกำกับดูแล
นายสมเกียรติ มองว่า สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้น มีเหตุมีผลที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือได้ เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากความความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลแล้วไม่สามารถปฎิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูล ทั้งนี้ การช่วยเหลือทั้งสองฝ่ายควรแยกออกจากกัน โดยเห็นว่าการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ควรมีมาตรการช่วย เหลือทั้งระยะสั้นและระยะยาว