สงครามการค้า"สหรัฐ VS จีน"สะเทือนถึงไทย จับตาส่งออกสะดุดไปไม่ถึงฝั่งฝัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 9, 2018 13:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว"วลีนี้ยังคงใช้ได้ดีกับโลกในยุคปัจจุบันที่แต่ละประเทศต่างมีความเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงิน รวมทั้งระบบการค้า การออกมาตรการหรือกฎระเบียบของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อาจไม่ได้สร้างผลกระทบในวงจำกัด หากแต่ยังกระทบไปถึงประเทศเล็กประเทศน้อยอีกเป็นจำนวนมาก แม้ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบทางอ้อมก็ตาม

การขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาถูกจับตามองจากหลายฝ่ายถึงการบริหารประเทศภายใต้สโลแกน"อเมริกาต้องมาก่อน"ทำให้การดำเนินนโยบายทั้งทางการเมือง ตลอดจนนโยบายทางการค้าที่ทรัมป์ประกาศออกมาแต่ละครั้ง ล้วนแล้วแต่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อสหรัฐฯ เตรียมจะใช้มาตรการทางการค้ากับประเทศจีน หลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้สอบสวนตามมาตรา 301 แล้วพบพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน

โดยสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่ส่งเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ราวเดือน พ.ค.61 ซึ่งกรณีนี้ย่อมส่งกระทบทางอ้อมต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกสินค้าของประเทศในภูมิภาครวมถึงไทยด้วย โดยสินค้าที่เข้าข่ายจะได้รับผลกระทบเป็นสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน เช่น ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ, ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ดังนั้น สงครามการค้าระหว่าง"อินทรีย์กับมังกร"ในครั้งนี้อาจยังมีสัตว์น้อยใหญ่ต้องบาดเจ็บล้มตายตามมาอีกเป็นจำนวนมาก

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า ในช่วงเวลาอีกประมาณ 1 เดือนต่อจากนี้ถือว่ายังเป็นช่วงที่สหรัฐฯ เปิดช่องให้จีนได้มีโอกาสเจรจาต่อรอง โดยทางออกที่พอจะเป็นไปได้เชื่อว่าสุดท้ายแล้วทั้งสองฝ่ายจะสามารถเจรจาต่อรองกันได้ด้วยดี และปรับลดรายการสินค้าที่จะเก็บภาษีนำเข้าให้เหลือน้อยลง แต่ทั้งนี้สหรัฐฯ คงไม่ถึงกับการยกเลิกบังคับใช้มาตรา 301 กับจีน

"แนวทางที่คิดว่าเป็นไปได้ เราไม่คิดว่าจะลดลงไปจนเหลือศูนย์ คงต้องรักษาฟอร์มกันไว้บ้าง คุยกันได้ ตัวเลขคงลดลง ทำให้การบังคับใช้มาตรา 301 กับจีนคงไม่ถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ อยู่ที่ว่าจะต่อรองกันเหลือเท่าไร ส่วนกรณีดีสุดสหรัฐฯ คงไม่ถึงกับยกเลิกมาตรการนี้ไปเลย เพราะคำสั่งฝ่ายบริหารจากทำเนียบขาวออกไปแล้ว ส่วนกรณีเลวร้าย คือไม่ปรับลดลงเลย และไม่สามารถตกลงกันได้ในกรอบเวลา

แต่ถึงจะเป็นกรณีเลวร้าย เราก็คิดว่าผลกระทบจะมีมากพอที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่อยากจะทำให้เรื่องนี้ใหญ่โตไปมากกว่านี้ คือ เรามองว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะยืดเยื้อข้ามปีนี้ไป ซึ่งถ้าผลออกมาในกรณีเลวร้าย จีนคงออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน" นายเชาว์ระบุ

สำหรับในแง่ของประเทศไทยนั้น นโยบายตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนอาจทำให้สินค้าส่งออกของไทยได้รับผลกระทบทางอ้อม เพราะหากจีนต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราสูงขึ้น ก็จะทำให้จีนต้องเร่งหันไปส่งออกในประเทศอื่นๆ แทน ซึ่งบางประเทศก็เป็นตลาดที่สำคัญของไทย เช่น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านประเภทโทรทัศน์ ลำโพง เครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น จึงมีผลในทางอ้อมให้การส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม)ลดลง เนื่องจากถูกสินค้าจีนเข้าไปตีตลาด

โดยสิ่งที่อาจได้เห็นในช่วงเดือน เม.ย.นี้ คือผู้ผลิตของไทยจะเร่งส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวเข้าไปยังประเทศจีนมากขึ้น ก่อนที่มาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้กับจีนในเดือนพ.ค.

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 เม.ย.61 คณะกรรมการด้านภาษีศุลกากรแห่งรัฐสภาจีนได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า 128 รายการจากสหรัฐฯ รวมมูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 15% ครอบคลุมสินค้าประเภทผลไม้สดและแห้ง ถั่ว ไวน์ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับผลไม้ รวม 120 รายการ กลุ่มที่สอง เก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% ครอบคลุมสินค้า 8 รายการประเภทเนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเนื้อสุกร ซึ่งถ้อยแถลงของคณะกรรมการฯ ระบุว่าการตัดสินใจออกมาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อต้องการตอบโต้ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน และได้กล่าวหาว่าจีนดำเนินนโยบายการค้าและการลงทุนที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐฯ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า แม้การประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 128 รายการของจีนจะเป็นการตอบโต้กรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมไปก่อนหน้านี้ ซึ่งยังเป็นการตอบโต้ทางการค้าระหว่างยักษ์ใหญ่ 2 ประเทศเท่านั้น แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการค้าโลก

แม้ขณะนี้จะยังไม่เห็นผลกระทบอย่างชัดเจนที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าส่งออกของไทย แต่ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าจับตา หากทั้ง 2 ประเทศตอบโต้กันด้วยการประกาศมาตรการเพิ่มเติมในสินค้าอื่นๆ ที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิต ทั้งนี้ สนค.จะมีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมหาทางรับมือได้อย่างทันท่วงที

พร้อมกันนี้ สนค.ยังมีข้อสังเกตว่าทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างฝ่ายต่างพยายามใช้มาตรการกับสินค้าที่เป็นจุดแข็งหรือฐานเสียงของอีกฝ่าย เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเทคโนโลยีของจีน และสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งหากมีแรงกดดันจากในประเทศก็อาจจะทำให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มกระบวนการเจรจากันเร็วขึ้น

โดยในปี 61 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกของไทยว่าจะขยายตัวได้ 8% ที่มูลค่า 2.55 แสนล้านดอลลาร์

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ และอาจต่อเนื่องไปในระยะกลางและระยะยาว เพราะสงครามการค้าดังกล่าวมีโอกาสที่จะขยายผลไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (NTB) ซึ่งจะกลายเป็นภัยคุกคามการค้าโลกในที่สุด

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นต้องจับตาดูมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน มี.ค.นี้ ที่อาจจะขยายตัวได้ไม่ถึง 2 หลัก เหตุเพราะอยู่ในช่วงที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้เริ่มเปิดฉากขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย.กระทรวงการคลังจีนได้เปิดเผยรายการสินค้าของสหรัฐที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในวงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยสินค้า 106 รายการ ใน 14 หมวดสินค้า รวมถึงถั่วเหลือง วิสกี้ รถยนต์ เครื่องบิน อาวุธยุทโธปกรณ์ และเคมีภัณฑ์ โดยรัฐบาลจีนจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐในอัตรา 25% ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากจีน หลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ USTR ระบุว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 25% จำนวน 1,300 รายการ ตั้งแต่สินค้าอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น การแพทย์ การบิน และเซมิคอนดักเตอร์ ไปจนถึงสินค้าจำพวกเครื่องจักรและเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ มาตรการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวยังครอบคลุมถึงสินค้าผู้บริโภค เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องกวาดหิมะ และมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อว่า มาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะไม่ลุกลามบานปลายหรือรุนแรงไปจนถึงขั้นจะก่อให้เกิดสงครามการค้าในระดับทวีป โดยระหว่างนี้น่าจะมีความพยายามของทั้งสองฝ่ายที่จะเข้าสู่โหมดการเจรจาที่เข้มข้นขึ้น และเชื่อว่าสหรัฐฯ คงไม่จงใจใช้ประเด็นเรื่องการขาดดุลการค้ากับจีนมาเป็นตัวทำร้ายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจโดยรวม

"เรามองว่าจะไม่เกิดสงครามการค้าที่รุนแรง แต่จะนำไปสู่โหมดของการเจรจาต่อรอง เพื่อประโยชน์ในการลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐเป็นสำคัญ ไม่น่าจะเป็นการตอบโต้จนเป็นสงครามการค้าระหว่างทวีปที่มีจีนและสหรัฐฯ เป็นแกนนำ และไม่ควรจะมีสงครามทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ตามมามากมาย"นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่สินค้าจากจีนเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ได้น้อยลงนั้น ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอาเซียน รวมทั้งไทยที่เป็นซัพพลายเออร์ของจีนจะได้รับผลกระทบในแง่การส่งออกสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะตลาดจีนและอาเซียนเป็นตลาดที่ผูกพันกัน กล่าวคือ สินค้าจากอาเซียนที่จะส่งไปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตสินค้าของจีนก็จะได้รับผลกระทบ และมีความเป็นไปได้ที่สินค้าที่จีนส่งไปขายในสหรัฐฯ ไม่ได้เหล่านั้นจะทะลักกลับเข้ามายังประเทศไทยแทน

ล่าสุดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขอให้สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR) พิจารณารายการสินค้านำเข้าจากจีนที่สหรัฐอาจเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 1 แสนล้านดอลลาร์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ภายใต้มาตรา 301 และหากเหมาะสมก็ขอให้ระบุรายการสินค้าที่จะเรียกเก็บภาษีดังกล่าวเพิ่มเติม ซึ่งความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้ทรัมป์ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะการตอบโต้อย่างไม่เป็นธรรมของจีนต่อการที่สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวของทรัมป์ ทำให้สถานการณ์ด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ดูเหมือนเริ่มจะคลี่คลายลงแล้ว อาจจะกลับมาทวีความตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง

การตอบโต้ทางการค้าด้วยมาตรการภาษีระหว่าง "อินทรีย์กับมังกร" ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามในช่วงต่อจากนี้ แม้หลายฝ่ายจะประเมินว่าไม่น่าจะลุกลามบานปลายจนถึงขั้นนำไปสู่ "สงครามการค้า" โดยเชื่อว่าลึกๆ แล้วทั้งสองฝ่ายต่างต้องการเพียงแค่เปิดเวทีเจรจาในระดับที่เข้มข้นมากกว่า เพราะต่างรู้ดีว่าหากสองประเทศเปิดศึกสงครามการค้าขึ้นมาจริง ผลกระทบย่อมจะไม่จำกัดอยู่แค่เพียง 2 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจนี้เท่านั้น แต่ย่อมจะแผ่อานุภาพไปยังประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของตัวเองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และสุดท้ายแล้วผลกระทบนั้นอาจจะย้อนกลับมาทำให้ทั้ง "อินทรีย์และมังกร" บาดเจ็บได้ในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ