รัฐบาล คาดเสนอพ.ร.บ.รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เข้าครม.พ.ค.นี้ มุ่งผลักดันวางโครงสร้างงานวิจัย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 9, 2018 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "ยุทธศาสตร์นวัตกรรมของประเทศไทย" ในการเปิดตัวรายงานธนาคารโลก "ตามติดเศรษฐกิจไทย : ไขปริศนานวัตกรรม" จัดโดยธนาคารโลก (World Bank) ว่า ขณะนี้โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะนวัตกรรมที่เป็นเรื่องสำคัญและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

สำหรับ 5 สิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและนวัตกรรม คือ 1. ภายในปีนี้จะออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใหม่ โดยเป็นการรวบรวมโครงการวิจัยทั้งหมดของประเทศไทยมาไว้ภายใต้กฎหมายดังกล่าว และจะมีการจัดตั้งองค์กรหลักในการวางกรอบการวิจัย โดยจะให้หน่วยงานวิจัยต่าง ๆ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นแขนขา เพื่อแก้ปัญหางานวิจัยไม่มีการสอดประสานกัน

2. ต้องปรับกระบวนการวิจัยของประเทศใหม่ทั้งหมด เพราะหมดยุคที่จะทำงานวิจัยเพื่อเก็บไว้บนหิ้งโดยหวังเพียงว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตไม่ได้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา มีงานวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยว 100 ชิ้น แต่สามารถนำไปใช้ได้จริงเพียง 10 ชิ้นเท่านั้น โดยโจทย์สำคัญในการทำงานวิจัยหลังจากนี้ คือ ทุกอย่างที่ทำจะต้องตอบโจทย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับประชนชน ถ้าตอบโจทย์ตรงนี้ได้ รัฐบาลก็จะจัดสรรงบประมาณรองรับ แต่ถ้าตอบโจทย์ไม่ได้ก็ต้องหาเงินทำงานวิจัยเอง

"งานวิจัยของไทยที่ผ่านมาใช้เงินมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นผล คำตอบที่ได้จากงานวิจัยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ แต่หลังจากนี้จะมีการปรับเปลี่ยนกรอบการวิจัยของประเทศให้ตอบโจทย์ประชาชน โดยงานวิจัยที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ จะมีการติดตามผลงานอย่างใกล้ชิด ถ้าพบว่างานวิจัยดังกล่าวไม่ตอบโจทย์ หรือไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง มีการหลอกลวง ก็จะขึ้นแบล็กลิส ส่วนคนที่ทำงานวิจัยแล้วเกิดประโยชน์กับประเทศแท้จริง ก็ควรจะจ่ายเงินเพื่อสนับสนุน" นายกอบศักดิ์ กล่าว

3. ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพโลก โดยจะมีการออกสตาร์ทอัพวีซ่า เพื่อให้บริษัทสตาร์ทอัพจากต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยทำได้ง่ายขึ้น และจะมีการกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทสตาร์ทอัพดังกล่าว ต้องจ่ายแรงงานไทยเข้าไปทำงานด้วย 4. การพัฒนาคน โดยปัจจุบันรัฐบาลกำลังดำเนินการสร้างและพัฒนาบุคคลากร โดยมีการเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทยได้ ซึ่งขณะนี้มีมหาวิทยาลัยจากสหรัฐฯ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม เตรียมจะมาเปิดสาขาในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และหลังจากนี้จะมีการหารือกับมหาวิทยาลัยจากจีน, ฮ่องกง, เกาหลี และยุโรปต่อไป

นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนด้านภาษีให้กับบริษัทเอกชนที่มีการลงทุนในการพัฒนาบุคลากร โดยให้สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีได้ รวมถึงบริษัทที่มีการลงทุนพัฒนาบุคลากรยังสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มได้จากปกติอีก 1-2 ปีอีกด้วย

"ไทยได้ร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ในการจัดตั้งโรงเรียนอาชีวะศึกษาไทย-ญี่ปุ่น เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องอาชีวะศึกษา ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 ปีจะได้ข้อสรุป" นายกอบศักดิ์ กล่าว

5. รัฐบาลจะวางกรอบให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เป็นศูนย์กลางในงานวิจัยแต่ละด้านตามความต้องการของอาชีพ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น

รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะทำเพื่อช่วยวางโครงสร้างในการทำวิจัยและพัฒนาแล้ว แต่สิ่งสุดท้ายที่รัฐบาลจะต้องทำคือ ต้องปรับเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ โดยขณะนี้หน่วยงานของรัฐบาลกำลังปรับเพื่อรองรับนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะอยู่ภายใต้ร่าง พ.ร.บ. รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นโครงการที่จะนำไปสู่การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของรัฐบาล โดยคาดว่าจะสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเดือน พ.ค.61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ