นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านบริการอาเซียน (CCS) ซึ่งไทยทำหน้าที่ประธานคณะทำงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 17-20 มี.ค.61 ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ว่า สมาชิกอาเซียนได้เร่งจัดทำข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการชุดที่ 10 ภายใต้ความตกลงการค้าบริการของอาเซียนหรือ AFAS (ASEAN Framework Agreement on Services) เพื่ออนุญาตให้ผู้ให้บริการอาเซียนเข้ามาลงทุนจัดตั้งธุรกิจโดยถือหุ้นได้อย่างน้อย 70% ซึ่งเป็นขั้นตอนของการเปิดเสรีชุดสุดท้ายตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 (AEC Blueprint 2015)
พร้อมกันนี้ อาเซียนได้เร่งจัดทำพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 เพื่อให้มีผลใช้บังคับได้ โดยตั้งเป้าหมายที่จะลงนามในพิธีสารดังกล่าวภายในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 50 ที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2561 โดยมั่นใจว่าการเปิดตลาดการค้าบริการที่เสรีมากขึ้น จะช่วยเสริมสร้างการขยายตัวในภาคการค้าบริการให้แก่ผู้ประกอบการทั้งไทยและอาเซียน
นายรณรงค์ กล่าวว่า การดำเนินการอีกเรื่องของอาเซียนในขณะนี้ คือ การจัดทำความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement : ATISA) ซึ่งจะนำมาใช้แทนกรอบความตกลงการค้าบริการฉบับปัจจุบัน โดยอาเซียนตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับให้ความตกลงการค้าบริการฉบับใหม่ของอาเซียนมีความทันสมัย มีคุณภาพ มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมในทุกสาขาบริการเพื่อให้สัมพันธ์กับแนวโน้มในการจัดทำความตกลงการค้าบริการของนานาประเทศในปัจจุบัน และวางแผนจะสรุปผลการจัดทำความตกลงภายในปี 2561 เช่นกัน
ทั้งนี้ การดำเนินการภายใต้ AFAS อาเซียนได้จัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดบริการระหว่างกันเป็นชุดๆ เพื่อให้มีการเปิดตลาดเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการชุดที่ 10 ซึ่งจะครอบคลุมสาขาบริการเกือบทั้งหมดที่อาเซียนเปิดตลาดระหว่างกัน ปัจจุบันอาเซียน 5 ประเทศที่ได้ยื่นข้อเสนอผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ได้ตามเป้าหมายแล้ว คือ บรูไนดารุสซาลาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และไทย ในขณะที่ประเทศอื่นอยู่ในขั้นตอนการจัดทำข้อผูกพัน
นอกจากนี้ การเปิดตลาดการค้าบริการของสมาชิกอาเซียนได้สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าบริการของอาเซียนเพื่อเข้าไปลงทุนในสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การลงทุนในกัมพูชา ในธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร, ในสปป.ลาว เช่น สถานพยาบาล การออกแบบก่อสร้าง โรงแรม สถาบันฝึกอบรม การบำรุงรักษาซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ, ในเมียนมา เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว การจัดงานแสดงสินค้า การจัดการประชุม และบริการด้านสุขภาพ เป็นต้น