นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ได้รับการคัดเลือกให้กลับมารับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนที่ 16 วาระปี 61-63
พร้อมประกาศยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน 5 แนวทาง ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสภาอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริม Startup และยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยุทะศาสตร์ที่ 4 สร้างเสริมธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยกระดับองค์กรและพัฒนาบุคลากร ส.อ.ท.
ทั้งนี้ นายสุพันธุ์ เคยดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.คนที่ 14 วาระในการดำรงตำแหน่ง วันที่ 9 เม.ย.57-9 เม.ย.59
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า วันนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนไปมาก การบริโภคเปลี่ยนไป ประธาน ส.อ.ท.คนก่อนเน้นเรื่อง Industry 4.0 แต่มาถึง ณ วันนี้คงต้องปรับเป็น Industry Transformation ทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมให้เกิดความเข้มแข็งและรับรู้และเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีที่เข้ามาให้ได้ รวมทั้งเสริมสร้างให้ภาคอุตสาหกรรมทำงานร่วมกับภาครัฐให้ได้ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาจะต้องมีการนำสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นวิธีการผลิต วิธีการจัดจำหน่าย และวิธีให้บริการ
สำหรับสมาชิก ส.อ.ท.จะต้องตื่นตัว ซึ่งวันนี้จะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมเล็กๆ รับรู้ข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งทำอย่างไรที่จะให้ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และ Big Brother หรือบริษัทใหญ่ๆ เพราะมองว่าในอนาคตอุตสาหกรรมที่เป็น Stand Alone หรือเดินเพียงลำพังจะลำบาก จึงจำเป็นต้องทำให้เกิดการตื่นตัว เกิดการรวมตัวกันในกลุ่มภาคเอกชนด้วยกันเพื่อให้เกิดความแข็งแรงในอุตสาหกรรมนั้นๆ
"วันนี้สภาพกลไกสังคมเปลี่ยนไป กลไกของการบริโภคภาคอุตสาหกรรม Big Brother ทุกเครือจะลงมาช่วย ทั้งเครือ ปตท. ไทยเบฟ สหพัฒน์ เป็นต้น"นายสุพันธุ์ กล่าว
สำหรับการเกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยเข้มแข็งในระยะยาว โดยอุตสาหกรรมในประเทศต้องต่อยอดจาก EEC ให้ได้ อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กต้องมีส่วนใน EEC ให้ได้ ไม่ใช่แค่เพียงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ นวัตกรรมใหม่ๆที่จะเข้ามาต้องมีอุตสาหกรรมของไทยเข้าไปมีส่วนร่วม
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า ภาพรวมปีนี้ถือว่าดี หลายปัจจัยมีแนวโน้มที่ดี เพียงแต่กลไกหนึ่งเป็นตัวแปร สำคัญคือประเด็นทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเพราะเป็นประเทศขนาดใหญ่ทั้งคู่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบเชิงบวกเชิงลบในแต่ละอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าประเด็นนี้จะส่งผลกระทบในระยะสั้น เพราะที่สุดแล้วหากบานปลายกลายเป็นสงครามการค้าก็จะเสียหายทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ และท้ายสุดจะต้องมีการเจรจากัน แต่สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ คือ อุตสาหกรรมของไทยต้องมีนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ซึ่งภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วย เพราะเราไม่ใช่คู่ต่อสู้ของประเทศทั้งสอง
"ทำอย่างไรเราจะเป็นตาอยู่ในงานนี้ได้ ไม่ใช่ทุกอย่างจะเสียหาย เพราะบางเรื่องเราอาจจะได้เปรียบ เช่นการเพิ่มภาษี หรืออะไรที่เราเป็นกลางอาจจะได้เปรียบ"นายสุพันธุ์ กล่าว