พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เทคโนโลยีป้องกันประเทศ ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงบประมาณ ไปประกอบการพิจารณาด้วย ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
พร้อมรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ
เนื่องจากปัจจุบันในส่วนของกระทรวงกลาโหมมีสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นองค์การมหาชน แต่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา การที่มีหน่วยงานองค์การมหาชนและจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกามีข้อจำกัดหลายประการ ไม่สามารถดำเนินการผลิตและจำหน่ายได้ เพราะสถาบันแห่งนี้มีหน้าที่วิจัยและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ แต่ไม่สามารถดำเนินการในขั้นของการผลิตและจำหน่ายได้เพราะกฎหมายที่รองรับสถาบันแห่งนี้อยู่คือพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเล็กกว่าพระราชบัญญัติ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาเวลาไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งโรงงาน หรือเกี่ยวข้องกับการวิจัย พัฒนา จำหน่ายยุทธภัณฑ์ก็จะไปเกี่ยวพันกับพ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์อีก ทำให้การดำเนินการทุกอย่างติดขัดในแต่ละขั้นตอน จึงมีการเสนอว่าควรจะมีการปรับปรุงองค์การมหาชนสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศให้เป็น "สำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.)" ไม่ใช่ส่วนราชการ และไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่อยู่ในการกำกับของหน่วยงานราชการ และมีพระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่จัดขึ้นมาเฉพาะสำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้มีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับพระราชบัญญัติเรื่องโรงงาน พระราชบัญญัติเรื่องยุทธภัณฑ์ เวลาวิจัยเสร็จเรียบร้อย จำเป็นต้องร่วมทุน จำเป็นต้องผลิตเพื่อขายในประเทศ หรือส่งขายต่างประเทศจะได้ดำเนินการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
"ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีให้ข้อสังเกตมาโดยตลอดว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิจัย พัฒนาอาวุธของประเทศไทยเมื่อวิจัยพัฒนามาโดยตลอด แต่ไม่เคยนำมาผลวิจัยมาต่อยอด จนกระทั่งเป็นผลผลิตที่จะเอามาใช้ในประเทศหรือส่งจำหน่ายต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเมื่อแก้ไขกฎหมาย แก้ไขรูปแบบขององค์การมหาชนจากสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศเป็นสำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศแล้ว เชื่อว่าจะสามารถนำผลวิจัยทั้งหลายมาต่อยอดผลิตจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ"พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม.เห็นว่าเรื่องบางเรื่องอาจจะไม่สามารถที่จะยกเว้นได้เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่าการประกอบกิจการของเอกชน รัฐไม่สามารถลงไปแข่งขันได้ เพราะฉะนั้นเรื่องบางเรื่องจึงไม่ควรยกเว้น เรื่องบางเรื่องสามารถยกเว้นได้เพื่อให้เกิดความคล่องตัว จึงมอบหมายคณะกรรมการกฤษฎีกาไปดูรายละเอียดว่าควรจะยกเว้นในกฎหมายข้อใดบ้าง และไม่ควรยกเว้นในข้อใดบ้าง เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความคล่องตัวในการผลิตจำหน่ายจากผลิตภัณฑ์ที่วิจัยและไม่เป็นการแข่งขันกับเอกชนจนเกินไป หรือไม่ทำให้ยุทโธปกรณ์ทั้งหลายดำเนินการโดยที่ไม่มีการควบคุมอย่างรัดกุมและรอบคอบ