กระทรวงแรงงาน รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์ด้านแรงงานเดือน ม.ค.61 ว่า อัตราการจ้างงานขยายตัว 3.16% (YoY) และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.60 ซึ่งอยู่ที่ 3.13% (YoY) เนื่องจากภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคในภาคเอกชนขยายตัวสูง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลง และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ประมาณการว่าในช่วงไตรมาส 1/61 อัตราการจ้างงานจะขยายตัว 2.17% (YoY) และลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/60 ซึ่งอยู่ที่ 3.13% (YoY)
สำหรับแนวโน้มการจ้างงานในภาพรวมปี 61 อยู่ในภาวะปกติ โดยมีดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการจ้างงาน เช่น ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจชะลอตัวจากปีที่ผ่านมา และมูลค่าการส่งออกขยายตัวจากปีที่ผ่านมา เป็นต้น
ขณะที่อัตราการว่างงานในเดือน ม.ค.61 อยู่ที่ 1.26% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.60 ซึ่งอยู่ที่ 0.96% เนื่องจากมีผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาและอยู่ระหว่างรองานมีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมถึงในภาคอุตสาหกรรมมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานเพิ่มขึ้น ประมาณการว่าในช่วงไตรมาส 1 ปี 61 อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ 0.89%
ส่วนสถานการณ์การเลิกจ้าง มีอัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 อยู่ที่ 0.22% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน ธ.ค.60 ซึ่งอยู่ที่ 0.21% เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานเพิ่มขึ้น
สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ได้จัดอันดับผลิตภาพแรงงานของประเทศไทยมาอยู่ที่ 57 จาก 63 ประเทศ ซึ่งถือได้ว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาผลิตภาพแรงงานต่ำเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น แรงงานมีความชำนาญหรือทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโลก และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกำลังแรงงานของประเทศไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดทำแผนแม่บทการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและแผนปฏิบัติการการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (พ.ศ.2560-2564) เพื่อใช้เป็นกรอบในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านผลิตภาพแรงงาน และตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งมี 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การเพิ่มศักยภาพแรงงานให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน 2.การเพิ่มประสิทธิภาพตลาดแรงงานเพื่อสร้างสมดุล และ 3.การบูรณาการฐานข้อมูลแรงงานทั้งระบบ