(เพิ่มเติม) ครม.เห็นชอบหลักการร่างพ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ขยายขอบเขตการทำธุรกรรมครอบคลุมหลากหลายมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 10, 2018 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการและอนุมัติร่างพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ร่างพระราชบัญญัติฯ) ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 (พระราชบัญญัติฯ) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและข้อบกพร่องที่เป็นข้อจำกัดในการทำธุรกรรมภายใต้พระราชบัญญัติฯ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการในขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยประเด็นของร่างพระราชบัญญัติฯ ที่แก้ไข มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. แก้ไขขอบเขตการใช้พระราชบัญญัติฯ ให้ครอบคลุมการทำธุรกรรมที่หลากหลายมากขึ้น โดยดำเนินการ

1.1 แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า "คู่สัญญา" เพื่อให้คู่สัญญาต่างตอบแทนทุกประเภทสามารถทำสัญญาดูแลผลประโยชน์ตามพระราชบัญญัติฯ นี้ได้

1.2 ขยายขอบเขตหน้าที่ของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาจากปัจจุบันที่ต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาทั้งเงิน ทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ตามที่คู่สัญญาได้ส่งมอบให้ (เช่น การซื้อขายบ้าน เป็นต้น) เป็นให้สามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาเฉพาะเงิน (เช่น การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น) ทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งตามความต้องการของคู่สัญญาได้ (เช่น การแลกเปลี่ยนหุ้นระหว่างสองบริษัท และการดูแลรักษา Source Code เป็นต้น) ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักสากลทั่วไป

2. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมซื้อขายห้องชุด เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดบันทึกเป็นหลักฐานว่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทห้องชุดนั้นอยู่ภายใต้บังคับแห่งสัญญาดูแลผลประโยชน์ และห้ามจดทะเบียนโอนสิทธิในทรัพย์สินนั้นจนกว่าจะได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาเช่นเดียวกับการซื้อขายบ้านและที่ดิน

3. แก้ไขบทบัญญัติการออกหลักฐานการฝากเงินหรือโอนเงิน ตลอดจนการปิดบัญชีดูแลผลประโยชน์ เพื่อให้สอดรับกับพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน

4. การเพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ให้สามารถกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

5. การเพิ่มบทกำหนดโทษทางปกครองของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญากรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่คณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ประกาศกำหนด เช่น กรณีคิดค่าตอบแทนเกินกว่าที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และกรณีไม่ออกหลักฐานรับรองการฝากเงินให้กับคู่สัญญาฝ่ายที่ต้องชำระเงินเป็นต้น

น.ส.กุลยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเป็นชอบในหลักการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคหรือข้อบกพร่องที่เป็นข้อจำกัดของพระราชบัญญัติฯ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยผลักดันและเป็นทางเลือกในการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงินให้กับประชาชน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากพระราชบัญญัติฯ ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการซื้อขายห้องชุด ซึ่งจะช่วยขยายผลนำไปสู่การขยายขอบเขตการทำธุรกรรมที่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ยังไม่ครอบคลุมการทำธุรกรรมในทุกประเภทสัญญา

"พ.ร.บ.ฉบับปี 51 ยังไม่ครอบคลุมการทำธุรกรรมครบทุกประเภท ซึ่งดูแลเฉพาะธุรกรรมที่อยู่ในตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และการบริการ แต่ไม่ได้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ เช่น ห้องชุด คอนโดมิเนียม ดังนั้นวันนี้กระทรวงการคลังจึงมาขออนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่เกี่ยวกับการทำสัญญา" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

พร้อมระบุว่า ปัจจุบันผู้ซื้อกับผู้ขายที่มีการทำสัญญากันเอง แล้วพบว่ามีการผิดสัญญาจนเกิดปัญหานั้น ในกฎหมายใหม่นี้ได้เปิดโอกาสให้มีตัวกลางขึ้นมาดูแลผลประโยชน์ของผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งผู้ที่ดูแลผลประโยชน์จะได้รับค่าจ้างหรือค่าธรรมเนียมเป็นค่าตอบแทน โดยจะได้มีการกำหนดรายละเอียดอยู่ในกฎหมายลูกต่อไป

"เดิมการขายห้องชุด ก็จะมีการทำสัญญากันเองระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แต่ตอนนี้เราสามารถหาคนกลางมาเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ และจะเปิดบัญชีกลางเอาไว้ คนซื้อเมื่อจ่ายค่างวดมาก็จะส่งให้ผู้ดูแล ผู้ดูแลก็จะนำเงินเข้าบัญชี และนำหลักฐานการโอนเงินส่งให้ผู้ขาย เมื่อจ่ายเงินครบสัญญา ผู้ขายก็โอนผ่านผู้ดูแล และผู้ดูแลก็แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องในทางนิติกรรมทราบทั้งหมด ซึ่งก็เหมือนกับทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ทั้งหมดระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้มีคนหันมาใช้บริการมากขึ้น เป็นการลดภาระส่วนตัวในการดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง นอกจากนี้ยังเป็นการลดจำนวนคดีความที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลด้วยเหตุของการไม่ปฏิบัติตามสัญญาทางธุรกรรมลงได้อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ