นางศิริพร สิงหรัญ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association :HBA) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มความต้องการปลูกสร้างบ้านของผู้บริโภคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 1/61 มีการเติบโตในทุกด้าน ทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านที่ขยายตัวสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 60 สะท้อนจากตัวเลขการจัดงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Home Builder & Materials Focus 2018 พบว่า ยอดขายแง่ยูนิตเพิ่มขึ้น 65% ในแง่ของมูลค่าก็เพิ่มขึ้นมากถึง 40% ของยอดขายรวม 1.2 พันล้านบาท จากตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1.1 พันล้านบาท ซึ่งทั้งตัวเลขยอดขายและมูลค่า นับเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 3 ปี
โดยเป็นผลมาจากปัจจัยบวกหลายปัจจัย เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีการใช้จ่ายเรื่องบ้านหรือที่อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. 61 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 79.9 จากเดือนก.พ. 61 ที่ระดับ 79.3 ทั้งปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาจากการใช้จ่ายด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมไปถึงด้านการท่องเที่ยวและการส่งออกปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับในไตรมาส 2/61 สมาคมฯ คาดว่าตลาดรับสร้างบ้านจะยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีความเป็นรูปบธรรมชัดเจน และหากรัฐบาลมีการขับเคลื่อนการใช้งบประมาณกลางปี โครงการไทยนิยมที่มีการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มขึ้น ส่งให้ผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 2/61 ขยายตัวเกิน 4.2% ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ทั้งปีนี้เติบโต 4.2-4.6%
อีกทั้งกำลังซื้อผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ข่วงขาขึ้น ทำให้เชื่อว่า ผู้บริโภคจะมีความสนใจและความต้องการปลูกสร้างบ้านใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงแนวโน้มการปรับขึ้นราคารับสร้างบ้าน เนื่องมาจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างปรับขึ้น และมีผลต่อค่าเฉลี่ยราคาก่อสร้างปรับสูงขึ้นตาม ซึ่งจะช่วยเร่งให้ผู้บริโภคตัดสินปลูกสร้างบ้านเร็วขึ้น
"ตลาดหลักของรับสร้างบ้านในขณะนี้ยังคงเป็นบ้านระดับราคา 2.5-10 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70% ของตลาดรวม ทั้งนี้กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยังเป็นตลาดที่มีการเติบโต ส่วนตลาดสร้างบ้านในต่างจังหวัดยังเติบได้ไม่มาก ส่วนหนึ่งเพราะราคาสินค้าเกษตรยังไม่ดีมาก ขณะที่จังหวัดที่มีรายได้จากภาคบริการ เช่นธุรกิจท่องเที่ยวที่ขยายตัวดียังพอที่จะผลักดันธุรกิจรับสร้างบ้านเติบโตดี"นางศิริพร กล่าว
สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านมีแนวโน้มพิจารณาปรับราคาก่อสร้างขึ้นในช่วงหลังกลางปีนี้ไปแล้ว เพราะผู้ประกอบการเองก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จากองค์ประกอบหลายด้าน เช่น ต้นทุนราคาวัสดุ ค่าแรงของกลุ่มแรงงาน และกลุ่มแรงงานฝีมือ เพราะส่วนที่มีผลกระทบต่อการปรับราคามากสุด คือ กลุ่มแรงงาน ตามมาด้วยแรงงานฝีมือซึ่งต้องปรับตาม แม้ว่าปัจจุบันอัตราค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้วก็ตาม แต่แนวโน้มคาดว่าราคาจะปรับขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-5 %
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯได้มีการประสานกับกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เพื่อให้คงราคาพิเศษสำหรับสมาชิกของสมาคมฯ เพื่อให้สามารถตรึงต้นทุนค่าก่อสร้างไว้ได้ รวมถึงสถาบันการเงินพันธมิตรที่พิจารณาให้สินเชื่อกับสมาชิกสมาคมฯ เป็นกรณีพิเศษด้วย เพื่อที่ผู้ประกอบการสมาชิกสมาคมฯ สามารถประคองราคาไว้นานที่สุดเพื่อช่วยผู้บริโภค
"ปกติในจังหวะที่เศรษฐกิจขยายตัว ธุรกิจรับสร้างบ้านจะพิจารณาปรับราคา จากต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ปีนี้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เข้ามาเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มอีก ผู้ประกอบการจึงพิจารณาขึ้นราคาในช่วงกลางปีไปแล้ว แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบลูกค้า เพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น"นางศิริพร กล่าว