นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการจัดตั้งบริษัท โครงข่าย บรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) บริษัทลูกของ บมจ. ทีโอที หรือ TOT และบมจ. กสท โทรคมนาคม หรือ CAT เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี รวมถึงแนวทางการปรับโครงสร้างองค์กรตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมีข้อห่วงใยของกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานของ บมจ.ทีโอที และบมจ. กสท โทรคมนาคม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรอบคอบมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจของทั้ง 4 บริษัท มีความเข้มแข็งในระยะยาว กระทรวงดิจิทัลฯ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณารายละเอียดด้านต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยมีปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานคณะทำงาน และประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค ด้านการบริหารจัดการ และด้านการบริหารบุคคล ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนจากคณะกรรมการของทั้ง 4 บริษัท กรรมการผู้จัดการใหญ่ของทั้ง 4 บริษัท ผู้แทนสหภาพ TOT และ CAT ผู้แทนพนักงานของ TOT, CAT, NBN และ NGDC ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อให้การดำเนินงานของทั้ง 4 บริษัท ให้เป็นไปอย่างราบรื่น
ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าของโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือ "เน็ตประชารัฐ" เฟสที่ 2 จำนวน 15,732 หมู่บ้าน ที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที ดำเนินการนั้น จะมีการนำงบประมาณที่เหลือจากการดำเนินการในเฟสที่ 1 ที่ติดตั้งแล้วเสร็จครบ จำนวน 24,700 หมู่บ้าน มาดำเนินการในเฟสที่ 2 ต่อ ซึ่งมีงบเหลือประมาณ 2,600 ล้านบาท โดยจากการติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในเฟสแรกที่มีการเดินสายได้อย่างครอบคลุม ทำให้การดำเนินงานเฟสที่ 2 ไม่จำเป็นต้องเดินสายโครงข่ายใหม่ ซึ่งช่วยลดอุปสรรคในการทำงานได้ ในส่วนของโครงการอบรมหลักสูตรการพัฒนาวิทยากรแกนนำเพื่อการใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ จะมีการอบรมกันอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งถือเป็นกลุ่มสุดท้ายของโครงการฯ ในการสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐไม่น้อยกว่า 1,000,000 คนทั่วประเทศ สอดคล้องตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของรัฐบาล
สำหรับการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) นั้น ขณะนี้หลายหน่วยงานทั้งระดับกระทรวง กรม เริ่มจัดทำข้อมูล Big Data กันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีการดำเนินการอยู่แล้วทำให้สามารถนำออกมาใช้ได้ รวมถึงกระทรวงยุติธรรมที่มีการจัดเก็บเรื่องอัตลักษณ์บุคคล ก็เริ่มมีการนำออกใช้เป็นข้อมูลแล้ว นอกจากนี้ รมว.ดีอี ยังได้หารือกับอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อให้ช่วยส่งทีมร่วมออกแบบและจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ดังกล่าว
ส่วนความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นั้น ดีอีได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับสามารถส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับผ่าน ครม.แล้วก็สามารถส่งต่อเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาดำเนินการต่อไปได้