ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 28 มี.ค.61 ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงการรักษาสมดุลระหว่าง policy trade-offs จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยเห็นถึงความจ่าเป็นในการด่าเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไป และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและดีกว่าที่ประเมินไว้ โดยได้รับแรงส่งจากทั้งภาคต่างประเทศและอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามพัฒนาการของอุปสงค์ในประเทศอย่างใกล้ชิด สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อย ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ เสถียรภาพระบบการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป
"คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงผลดีและผลกระทบของทางเลือกเชิงนโยบายต่าง ๆ (policy trade-off) จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบัน ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง" รายงาน กนง.ระบุ
ในการตัดสินนโยบายครั้งนี้กรรมการ 6 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยให้เหตุผลสำคัญ ดังนี้
1) เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น อุปสงค์ในประเทศทยอยปรับดีขึ้นแต่ยังไม่เข้มแข็ง การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้รับแรงส่งจากการส่งออกสินค้าและบริการตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทยอยส่งผลดีไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นยังกระจุกตัวในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและท่องเที่ยว ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและขยายตัวได้ต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
2) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางทยอยปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและราคาน้ำมัน แม้ราคาอาหารสดที่ลดลงมากกว่าคาด ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ตามอุปสงค์ในประเทศที่ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
3) เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้คณะกรรมการฯ เห็นว่าความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินบางส่วน มีสัญญาณปรับลดลงบ้าง อาทิ NPL ที่เริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นบ้างในบางธุรกิจและบางภูมิภาค แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ยังกังวลต่อพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs พัฒนาการของสหกรณ์ออมทรัพย์ และอุปทานส่วนเกินของภาคอสังหาริมทรัพย์
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง และดีกว่าประมาณการเดิม โดยได้ปรับขึ้นประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 61 เป็น 4.1% จากเดิมที่ 3.9% และคาดว่าขยายตัวได้ต่อเนื่องในปี 62 ที่ 4.1% จากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวชัดเจนเป็นสำคัญ
คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเฉพาะ (1) มูลค่าการส่งออกสินค้าในภาพรวมที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้นเป็นสำคัญ แต่อาจต้องเผชิญความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศ (2) การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวไม่เข้มแข็ง เนื่องจากรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรบางส่วนได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดลง อีกทั้งชั่วโมงการทำงานของกลุ่มลูกจ้างรายวันนอกภาคเกษตรและกลุ่มลูกจ้างรายเดือนในภาคบริการและก่อสร้างปรับลดลง
คณะกรรมการฯ ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 61 ลงเล็กน้อยมาอยู่ที่เฉลี่ย 1.0% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 62 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% ตามราคาอาหารสดที่ลดลง จากราคาเนื้อหมูที่ปรับลดลงจากอุปทานที่อยู่ในระดับสูง และราคาผักผลไม้ที่ลดลงตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย
สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 61 ปรับลดลงเล็กน้อยมาเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 62 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% ตามอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ระดับราคาในประเทศไม่ได้เร่งตัวมากนัก สำหรับความเสี่ยงต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่าด้านสูง สอดคล้องกับความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจ
สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) โดยรวมขยายตัวใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยขยายตัวได้ในหลายประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ขยายตัวได้ดีจากสินเชื่อเช่าซื้อยานพาหนะ สำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ทยอยปรับดีขึ้นในหลายหมวดธุรกิจและกระจายตัวมากขึ้นในบางภูมิภาคตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และบริการ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่หดตัว ส่วนหนึ่งมาจากการชำระหนี้คืนและหันมาระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุนเพิ่มขึ้น
ในส่วนของคุณภาพสินเชื่อ สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยรวมทรงตัว โดย NPL ของสินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคในทุกประเภทยังปรับดีขึ้นไม่ชัดเจนนัก สะท้อนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ดี NPL ของ SMEs บางกลุ่มปรับลดลงบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ายังต้องติดตามพัฒนาการของ NPL ของธุรกิจ SMEs อย่างใกล้ชิด ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนความทั่วถึงของการกระจายผลดีจากเศรษฐกิจที่มีทิศทางขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ส่วนภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศโดยรวมขยายตัวต่อเนื่อง เศรษฐกิจคู่ค้าของไทยขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยมีแรงส่งจากภาคการผลิตและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นเป็นหลัก ส่วนอัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนนโยบายการเงินของธนาคารกลางของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังคงผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและการทยอยปรับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความเสี่ยงด้านต่าต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ขณะที่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยรวมปรับลดลง
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินในเบื้องต้นว่ามาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้า (safeguard measure) ของสหรัฐฯ ล่าสุด อาทิ การปรับขึ้นภาษีน เข้าเหล็กและอลูมิเนียมตามนโยบายการค้าของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าในระยะสั้นค่อนข้างจำกัด แต่ยังต้องติดตามผลกระทบทางอ้อมในระยะต่อไป อาทิ ผลจากการจำกัดการค้าเสรีในบางสินค้าอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เร่งตัวซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความผันผวนในตลาดการเงินโลก รวมถึงผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และการส่งออกสินค้าไทย อีกทั้งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในบางกลุ่มสินค้า หากคู่ค้าของสหรัฐฯ ปรับตัวกับมาตรการดังกล่าวโดยขยายตลาดมาที่ไทย (trade diversion)