นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน เมษายน 2561 ปรับเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยจากเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา จากระดับ 45.28 จุด มาอยู่ที่ระดับ 48.69 จุด เพิ่มขึ้น 3.41 จุด หรือคิดเป็น 7.53% ซึ่งดัชนียังคงแสดงถึงทัศนคติในเชิงลบอยู่ แม้ดัชนีจะปรับขึ้นมาได้เล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด หลังจากเดือนก่อนหน้านี้ปรับลดลงอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ นักลงทุนคาดว่าราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้น น่าจะมีปัจจัยมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เงินทุนไหลออกจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การซื้อ-ขายตามเทศกาล และ แรงซื้อเก็งกำไร ตามลำดับ
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะสามเดือนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 (เม.ย. - มิ.ย.) ปรับลดลงจากไตรมาสแรกของปี 2561 จากระดับ 69.64 จุด มาอยู่ที่ระดับ 52.10 จุด ลดลง 17.54 จุด หรือคิดเป็น 25.18% ซึ่งยังคงยืนอยู่เหนือระดับ 50 จุดได้ โดยมีปัจจัยกดดันราคาทองคำมาจากการแข็งค่าของเงินบาท และ ทิศทางนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 263 ตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 43.73% คาดว่าจะซื้อทองคำในช่วงเดือน เมษายน 2561 ขณะที่ 37.26% ยังไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ ส่วนอีก 19.01% คาดว่าจะไม่ซื้อทองคำในช่วงเดือน เมษายน 2561
สรุป กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 10 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำจะเพิ่มขึ้น จำนวน 5 ราย และคาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับราคาทองในเดือน มีนาคม 2561 จำนวน 4 ราย ส่วนคาดว่าทองคำจะลดลง มีจำนวน 1 ราย
"ผู้ค้าทองรายใหญ่มองราคาทองคำมีลักษณะ Sideway Up ท่ามกลางสถานการณ์ค่าเงินสหรัฐฯ ความผันผวนของตลาดหุ้น และความกังวลในสงครามทางการค้า โดยแนะนำให้ทำกำไรในระยะสั้น"
สำหรับการคาดการณ์ราคาทองเดือน เมษายน 2561 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบราคาบริเวณ 1,281 – 1,380 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศ ความบริสุทธิ์ 96.5%ให้กรอบบริเวณ 19,200 – 20,500 บาท ต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาทไทยให้กรอบบริเวณ 30.81–31.80 บาทไทยต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในเดือนเมษายน 2561 ได้แก่ 1. สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและรัสเซีย โดยคาดว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องติดตามดูว่า รัสเซียจะดำเนินการอย่างไรต่อเหตุการณ์ครั้งนี้
2.สถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความกังวลในตลาด โดยเฉพาะปัญหาดังกล่าวอาจทำให้เกิดสงครามทางการค้า ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อราคาทองคำ
3. นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) โดยราคาทองคำอาจย่อตัวลงมาได้เพื่อรอความชัดเจนในการประชุม FED ครั้งถัดไป
4. สถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเริ่มคลี่คลาย นักลงทุนเริ่มคลายความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี ส่งผลให้ราคาทองคำปรับขึ้นไม่มากนัก