นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน มี.ค.61 ว่า ในระยะข้างหน้าคณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยกบับสู่เป้าหมายในระยะปานกลางได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ พร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ
ในการพิจารณาครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น ตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกรวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้น แต่เพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อยจากปริมาณผลผลิตเนื้อสัตว์และผักผลไม้ที่ออกสู่ตลาดมากทำให้ราคาลดลง
สำหรับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานที่สะสมเพิ่มขึ้นในจุดต่างๆ ยังต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและดีกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะจากภาคการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้า ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้นสะท้อนจากความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เร่งตัวขึ้นมากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ ธปท.ปรับประมาณการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ขึ้นเป็น 3% จากเดิม 2.3% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 62 ที่ 3.6% โดยนโยบายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการลงทุนในประเทศได้บ้าง
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตาในปีนี้ คือ 1.ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะจีน ที่อาจมีผลกระทบทางอ้อมมาถึงการส่งออกของไทยได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดการปรับเปลี่ยนฐานการผลิต และ supply chain ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ขอให้มีการติดตามกรณีนี้เป็นพิเศษ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้า
2.ความเสี่ยงในเรื่องของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐในปีนี้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้น้อยกว่าที่ประเมินไว้ โดยส่งผลกระทบที่มากและยาวนานกว่าคาดจากการเริ่มบังคับใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ดังกล่าวที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2560 ส่งผลให้การเบิกจ่ายของหน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าวต้องอาศัยระยะเวลานานในการปรับตัว ซึ่งคาดว่าผลกระทบนี้จะมีต่อเนื่องไปอีก 2-3 ไตรมาส และสถานการณ์น่าจะเริ่มดีขึ้นและกลับสู่ภาวะได้ในช่วงปลายปีนี้
3.ความเสี่ยงจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร ซึ่งอาจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศมากกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนยังมีสัญญาณเร่งตัวขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและหนี้รถยนต์ ซึ่งล่าสุดในไตรมาส 4/60 พบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 77.5% ต่อจีดีพี จากในช่วงไตรมาส 3/60 ซึ่งอยู่ที่ 77.3% ต่อจีดีพี ขณะเดียวกันต้องติดตามหนี้ NPL รายใหม่ที่ยังคงเพิ่มขึ้นในบางหมวดของสินเชื่อ
นายจาตุรงค์ ยังกล่าวถึงทิศทางเงินเฟ้อทั่วไปว่า ยังมีแนวโน้มจะทยอยปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบล่างของเป้าหมายที่ 1% ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ (เป้าหมาย 1-4%) ทั้งนี้ แม้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นแต่ก็ไม่ได้เป็นตัวหนุนให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วขึ้น เนื่องจากต้นทุนราคาอาหารสดยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ
"ราคาอาหารสดเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อปีนี้ผันผวน คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรก เงินเฟ้อจะแตะขอบล่างได้ และทั้งปีคงเฉลี่ยอยู่ที่ 1% เราเห็นทิศทางของเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ เพราะยังมีปัจจัยโครงสร้างหลายตัวที่ทำให้เงินเฟ้อไม่ได้ปรับขึ้นเร็ว" นายจาตุรงค์กล่าว
นายจาตุรงค์ ยังกล่าวถึงกรณีที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มี.ค.61 ที่มีกรรมการ กนง. 1 เสียง เห็นว่าควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ไม่ถือว่าเป็นสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต เนื่องจากคณะกรรมการส่วนใหญ่อีก 6 เสียงยังเห็นว่าควรคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม เพราะเชื่อว่าการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังมีความจำเป็นเพื่อช่วยสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศให้ขยายตัว